การทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
เป็นเพียงการตกลงผ่อนผันเฉพาะในส่วนของข้อตกลงในการชำระหนี้ โดยมีเงื่อนไขในการผ่อนชำระต้นเงิน และดอกเบี้ยเพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้และได้รับประโยชน์จากการปรับโครงสร้างหนี้เท่านั้น
คู่สัญญาไม่ได้มีเจตนาที่จะถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ หรือยกเลิกหนี้เดิมที่นำมาปรับโครงสร้างหนี้แต่อย่างใด
จึงมิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา ๓๔๙
หนี้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาสินเชื่อเดิมจึงมิได้ระงับไป และการค้ำประกันของจำเลยที่ ๓ ยังคงมีผลใช้บังคับ และผูกพันจำเลยที่ ๓ ตลอดไปในเมื่อจำเลยที่ ๑
ยังคงเป็นลูกหนี้โจทก์ จำเลยที่ ๓
จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ชำระหนี้ให้แก่โจทก์
ตามฎีกานี้ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ทำสัญญาสองฉบับ ยอมรับว่า
ค้างชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์ เป็นเงินต้นและดอกเบี้ย
โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน… ซึ่งจำเลยที่ ๓ ผู้ค้ำประกัน
ไม่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และสัญญาค้ำประกันฉบับใหม่ ด้วย
เพิ่มเติม
การแปลงหนี้ใหม่ทำให้หนี้เดิมระงับ
และผูกพันกันตามหนี้ใหม่ ซึ่งหลักเกณฑ์การแปลงหนี้ใหม่ มีดังนี้
๑.ต้องมีหนี้เดิมผูกพันกันอยู่
ถ้าไม่มีมูลหนี้เดิม ก็จะแปลงหนี้ใหม่ไม่ได้(ฎีกาที่ ๑๘๒๖/๒๕๒๙)
๒.คู่กรณีทำสัญญาเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งหนี้
แม้หนี้เดิมมิได้เกิดจากมูลสัญญา การแปลงหนี้ใหม่ก็ต้องทำสัญญา(ฎีกาที่ ๑๐๙๒/๒๕๐๙)
๓.คู่กรณีมีความประสงค์ที่จะระงับหนี้เดิม
๔.หนี้ใหม่ต้องเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์
หากหนี้ใหม่เกิดขึ้นโดยไม่สมบูรณ์ หนี้เก่าก็ยังคงอยู่ไม่ระงับไป
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๓๔๙ “เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่
ถ้าทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขก็ดี
เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เปลี่ยนเงื่อนไขก็ดี ท่านถือว่า
เป็นอันเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้นั้น
ถ้าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้
ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้อง”
อ้างอิง
ไพโรจน์
วายุภาพ. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหนี้(พิมพ์ครั้งที่ ๑๒). กรุงเทพฯ:
จัดพิมพ์โดยสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, ๒๕๖๑.
0 Comments
แสดงความคิดเห็น