สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองจะบริบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๖๕๐ วรรคสอง จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้เงิน จึงเป็นสัญญาที่ไม่สมบูรณ์ สัญญากู้เงินเกิดจากการฉ้อฉลโดยโจทก์บีบบังคับหลอกลวงจำเลยลงลายมือชื่อโดยไม่ได้มีเจตนาผูกพันตามสัญญากู้เงิน ถือว่าเป็นการปฏิเสธอ้างเหตุความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ เป็นคำให้การที่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง คดีมีประเด็นที่จำเลยจะสืบพยานให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ได้ การที่จำเลยนําสืบว่าจำเลยไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้เงิน เป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๙๔ วรรคท้าย จำเลยนำสืบได้
              
เพิ่มเติม
การสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร
               กรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง ได้แก่ กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ
               กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ เช่น
                การโอนสิทธิเรียกร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๐๖
               สัญญาเช่าซื้อตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๗๒
               การบอกกล่าวบังคับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๒๘
               การตั้งตัวแทนในกิจกรรมที่ต้องทำเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๙๘ วรรคแรก
                ตั๋วเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๙๘ และ ๙๐๐ 
               พินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๕๖ 
               การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๒๙ 
               การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๖๐ วรรคสอง

               กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น
               สัญญาซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๖, ๕๑๙ ๕๒๕ 
               จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๑๔

               กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ เช่น
               สัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๖ 
               สัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๖ วรรคท้าย
               เช่าอสังหาริมทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๓๘ 
               กู้ยืมเงินกว่า ๒,๐๐๐ บาทขึ้นไป และการนำสืบการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๓
               ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๘๐ 
               การตั้งตัวแทนในกิจการที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๙๘ วรรคสอง
               สัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๕๑
               ประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๖๗ 
               สัญญาแบ่งมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๕๐ วรรคสอง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
               มาตรา ๙๔ เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี   
               (ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง
               (ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอ
               แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (๒) แห่งมาตรา ๔๓ และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

อ้างอิง
วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์. กฎมายพยานพิสดาร (ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี ๒๕๖๑). กรุงเทพมหานครสำนักพิมพ์แสงจันทร์การพิมพ์, ๒๕๖๑.