งานเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินอันเป็นหน้าที่การทำงานปกติของจำเลยร่วม มีกฎกระทรวงกำหนดงานที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับ ค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด พ.ศ.๒๕๕๒ ที่ออกตามความ ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๕ (๙) กำหนดไว้โดยเฉพาะ โดยข้อ ๒ กำหนดให้งานเฝ้าดูแลสถานที่หรือ ทรัพย์สินอันเป็นหน้าที่การทำงานปกติของลูกจ้างเป็นงานที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๖๑ จึงไม่อาจนำกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๕๔๑) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๑ และ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาใช้บังคับกับงานเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินอันเป็นหน้าที่การทำงานปกติ จำเลยร่วมซึ่งมีตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัยทำงานเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินอันเป็นหน้าที่การทำงานปกติจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาคงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๕ เท่านั้น โจทก์จ่ายค่าตอบแทนการทำงานให้จำเลยร่วมชอบแล้ว

               ตามฎีกานี้ จำเลยร่วมเป็นลูกจ้างรายวันโจทก์ ในตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย มีหน้าที่เฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของบริษัทห้างร้านที่เป็นลูกค้าของโจทก์ โจทก์กำหนดวันและเวลาทำงาน สัปดาห์หนึ่งทำงาน ๖ วัน วันเสาร์เป็นวันหยุด วันหนึ่งแบ่งการทำงานเป็น ๒ กะ กะละ ๑๒ ชั่วโมง กะกลางวันทำงานตั้งแต่เวลา ๖ นาฬิกา ถึง ๑๘ นาฬิกา กะกลางคืนทำงานตั้งแต่ ๑๘ นาฬิกา ถึง ๖ นาฬิกา ของอีกวันหนึ่ง โจทก์จ่ายค่าจ้างสำหรับการทำงาน ๘ ชั่วโมง ๓๐๐ บาท และการทำงานอีก ๘ ชั่วโมง โจทก์จ่ายค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินเท่ากับอัตราต่อชั่วโมงในวันทำงาน ซึ่งค่าตอบแทนชั่วโมงละ ๓๗.๕๐ บาท รวม ๔ ชั่วโมง เป็นเงิน ๑๕๐ บาท รวมแล้วการทำงาน ๑๒ ชั่วโมง ต่อวัน โจทก์จ่ายให้จำเลยร่วม ๔๕๐ บาท
                    โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน ระหว่างพิจารณา ศาลแรงงานภาค ๖ มีคำสั่งเรียก ม. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๕๗ (๓) (ข) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑

เพิ่มเติม
               วันทำงาน หมายถึงวันทำงานที่ลูกจ้างได้ทำงานจริง หากลูกจ้างซึ่งทำงานล่วงเวลาในทำงานปกติ ก็มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานปกติ ซึ่งมิใช่อัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งตามมาตรา ๖๑

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
                มาตรา ๖๑ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
               มาตรา ๖๒ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามมาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ หรือมาตรา ๓๐ ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตรา ดังต่อไปนี้
               (๑) สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
               (๒) สำหรับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้าง ตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
               มาตรา ๖๓ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
               มาตรา ๖๕ ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรา ๖๑ และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา ๖๓ แต่ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานตาม (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) มี สิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
               (๙) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

กฎกระทรวงกำหนดงานที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด
พ.ศ. ๒๕๕๒
               ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๕๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๑
               ข้อ ๒ งานที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรา ๖๑ และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา ๖๓ แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ได้แก่ งานเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินอัน เป็นหน้าที่การทำงานปกติของลูกจ้าง

อ้างอิง
พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น. คำอธิบายกฎหมายแรรงงานเพื่อการบริหารทรัพยากรมนุษย์. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2561.