เหตุที่จำเลยยิงผู้ตายเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงมาจากการที่ผู้ตายมึนเมาสุราและขอมีเพศสัมพันธ์กับจำเลยแล้วจำเลยไม่ยินยอม ผู้ตายไม่พอใจจึงทำร้ายจำเลยโดยใช้มีดทำครัวเป็นอาวุธ เมื่อจำเลยหนีไปนอกบ้านแล้วกลับเข้ามาผู้ตายก็ยังทำร้ายจำเลยอีกจนเป็นเหตุให้จำเลย ยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย เมื่อผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุทะเลาะวิวาททำร้ายจำเลยก่อน ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๒ (๔) โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตามมาตรา ๕ (๒) และเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามมาตรา ๓๐ ได้ และเมื่อไม่อาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ก็ไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑
               การกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ.มาตรา ๗๒ เป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ส่วนการป้องกันสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๖๘ หรือการป้องกันสิทธิเกินสมควรแก่เหตุตามมาตรา ๖๙ นั้น เป็นกรณีที่ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และมีภยันตรายที่ใกล้จะถึง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจึงไม่อาจเป็นทั้งการกระทำโดยบันดาลโทสะและป้องกันสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการป้องกันสิทธิเกินสมควรแก่เหตุในขณะเดียวกันได้ เนื่องจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่ผู้กระทำจะกระทำเพื่อป้องกันสิทธิได้จะต้องเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและภยันตรายนั้น ยังมิได้สิ้นสุดลง หากภยันตรายนั้นผ่านพ้นไปแล้วผู้กระทำก็ไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิได้ อย่างไรก็ดีภยันตรายดังกล่าวแม้จะ ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ก็อาจเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมได้อย่างหนึ่ง หากผู้ถูกข่มเหงได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น คือ ในระยะเวลาต่อเนื่องที่ตนยังมีโทสะอยู่ ย่อมถือว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ
               จำเลยมีอาวุธปืนอยู่ในมือในขณะที่ผู้ตายไม่มีอาวุธเป็นพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่า ผู้ตายคงไม่กล้าทำร้ายจำเลยอีกต่อไปแล้ว จึงถือได้ว่าภยันตรายดังกล่าวที่ผู้ตายก่อได้ผ่านพ้นไปแล้ว อย่างไรก็ตามพฤติการณ์ที่จำเลยยิงผู้ตายถึง ๖ นัด แล้วยังบรรจุกระสุนปืนเพิ่มและยิงผู้ตายอีกก็ต่อเนื่องมาจากการกระทำของผู้ตายที่กระทำต่อจำเลย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยยิงผู้ตายไปในระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกับการกระทำดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ หาใช่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิเกินสมควรแก่เหตุด้วยในขณะเดียวกันและเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕

               ตามฎีกานี้ ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นจำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน ระหว่างพิจารณามารดาของผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๖๘, ๖๙, ๗๒ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ เพียงบทเดียว โจทก์ร่วมฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
               อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ขณะที่ผู้ตายทำร้ายจำเลยโดยมิได้มีอาวุธมีดแต่อย่างใด แล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยมีสองตอน ตอนแรกคือ การที่จำเลยยิงผู้ตายถึง ๖ นัด จนกระสุนปืนในลูกโม่หมด เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิเกินสมควรแก่เหตุ ส่วนตอนที่สองคือ การที่จำเลยยังบรรจุกระสุนปืนเพิ่มและยิงผู้ตายอีกหลังจากยิงตอนแรกจนผู้ตาย ไม่สามารถทำร้ายจำเลยได้แล้วเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะซึ่งต่อเนื่องกับการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิเกินสมควรแก่เหตุ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันและพิพากษาลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๗๒ เพียงบทเดียวนั้น ในประเด็นนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า ไม่อาจเป็นทั้งการกระทำโดยบันดาลโทสะและป้องกันสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการป้องกันสิทธิเกินสมควรแก่เหตุในขณะเดียวกันได้

ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๖๘ ผู้ใดต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด
               มาตรา ๖๙ ในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๗ และมาตรา ๖๕ นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้
               มาตรา ๗๒ ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้