จำเลยมีเจ้าหนี้หลายรายโดยนอกจากจำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์แล้ว
จำเลยยังเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของ ป.
ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงซึ่งได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีและศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทไว้ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยตามมูลหนี้กู้ยืมที่เป็นเหตุอ้างในคำฟ้องคดีนี้ย่อมมีเหตุให้จำเลยขวนขวายในการชำระหนี้ต่อ
ป. เช่นกัน การที่จำเลยขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ ณ. ในราคา ๑๗๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นราคาไม่ต่ำกว่าราคาในท้องตลาด
ประกอบกับจำเลยยังมีหนี้กับเจ้าหนี้รายอื่นอีกหลายราย เมื่อนำเงินที่ได้รับจากการขายที่ดินไปชำระหนี้
ป. แล้วมีเงินเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยไม่พอชำระหนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ จำเลยจึงนำไปชำระหนี้เจ้าหนี้รายอื่นซึ่งเป็นรายย่อยก่อน
ทั้งเป็นการขายที่ดินดังกล่าวไปภายหลังวันที่มีการปิดหมายแจ้งการส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยแก้คดีโดยมีระยะเวลาห่างกันเพียง
๖ วัน ซึ่งขณะจำเลยขายที่ดินพิพาท ไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องคดีมาก่อน
เนื่องจากขณะนั้นจำเลยอยู่ต่างจังหวัด ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการขายที่ดินเพื่อปลดเปลื้องภาระหนี้ต่อเจ้าหนี้อื่น
ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริง ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระโดยไม่ใช่เกิดจากการสมคบหรือแกล้งเป็นหนี้
โดยมีมูลเหตุชักจูงใจหรือมีเจตนาพิเศษเพื่อไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๐
เพิ่มเติม
ในตำราของท่านอาจารย์สุปัน พูลพัฒน์ ได้ให้ความหมายของคำว่า “ได้ใช้”
และคำว่า “จะใช้” ไว้ดังนี้
คำว่า “ได้ใช้”
หมายถึงได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ซึ่งได้แก่การยื่นฟ้องหรือขอบังคับคดีต่อศาลเพื่อให้ชำระหนี้
คำว่า “จะใช้”
หมายถึงจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แต่ยังไม่ได้ฟ้องร้องต่อศาล เช่น
มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้(ฎีกาที่
๘๒๙/๒๔๘๓) เป็นต้น
การย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น
หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่น ซึ่งทรัพย์ใดก็ดี
แกล้งให้ตนเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดีนั้น
จะต้องกระทำไปโดยเจตนาเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
ถ้าขาดเจตนาในข้อนี้เสียการกระทำก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๕๐
ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น
หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี
แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี
หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ้างอิง
สุปัน
พูลพัฒน์. คำอธิบายเรียงมาตราประมวลกฎหมายอาญา,ไม่ปรากฏสำนักพิมพ์, ๒๕๐๖.
0 Comments
แสดงความคิดเห็น