การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน แม้การกระทำนั้นจะมีมูลคดีเกิดจากการกระทำเรื่องเดียวกันและเป็นข้อเท็จจริงเดียวกันทั้งหมด แต่โดยสภาพแห่งการกระทำเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนซึ่งอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ ส่วนที่จะเป็นความผิดกรรมเดียว หรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อผู้เสียหายหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากจำนวนผู้เสียหายหรือประชาชนที่ถูกหลอกลวงแต่ละคนเพียงอย่างเดียว
               จำเลยที่ ๓ ยอมรับในฎีกาว่า ผู้เสียหายแต่ละคนได้แยกฟ้องจำเลยที่ ๓ คนละศาลต่างกันตามสถานที่เกิดเหตุ ดังนี้ การกระทำความผิดของจำเลยที่ ๓ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๓๖/๒๕๕๙ ของศาลจังหวัดพล คดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๙๒๕/๒๕๕๙ ของศาลจังหวัดร้อยเอ็ด คดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๓๘๐๘/๒๕๕๘ และ ๒๔๑๗/๒๕๕๙ ของศาลชั้นต้น จึงไม่ใช่การกระทำความผิดกรรมเดียวกันกับคดีนี้ และแม้คดีนี้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าในระหว่างเดือนเมษายน ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ ๓ กับพวกร่วมกันหลอกลวงประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้งสามสิบคนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งตามฟ้อง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อการกระทำดังกล่าวเป็นผลให้ผู้เสียหายทั้งสามสิบคนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยที่ ๓ กับพวก ก็ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย คือ ๓๐ กรรม และมีผลทำให้ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๓๖/๒๕๕๙ ของศาลจังหวัดพล และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๙๒๕/๒๕๕๔ ของศาลจังหวัดร้อยเอ็ด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๔)

               ตามฎีกานี้ มีปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ ๓ เป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ ๓ พูดว่าสามารถดำเนินการให้ผู้เสียหายที่เป็นผู้สมัครสอบเข้ารับราชการในตำแหน่งต่างๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่ต้องการได้ ซึ่งจะมีการสอบเพียงครั้งเดียวกันในปี ๒๕๕๖ เพียงแต่ผู้เสียหายที่เป็นผู้สมัครสอบนำเงินมาให้คนละวัน โดยผู้เสียหายได้แยกฟ้องคนละศาลต่างกันตามสถานที่เกิดเหตุ

เพิ่มเติม
               ทฤษฎีผู้เสียหายต่างราย หมายถึง การกระทำผิดต่อผู้เสียหาย หลายรายหรือต่างราย แม้จะทำต่อเนื่องกัน ก็เป็นความผิดหลายกรรม

ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๙๑ เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้
               (๑) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี   (๒) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
               (๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

อ้างอิง
รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์. คำอธิบายสิบทฤษฎี ผิดกรรมเดียว หรือหลายกรรม ทำผิดหลายอย่าง หลายวันเวลา แต่ผิดกรรมเดียว ทำผิดอย่างเดียว วันเวลาเดียว กลับผิดหลายกรรม รวมหลายอย่าง คำพิพากษาฎีกาที่กลับตาลปัตร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ห้างหุ้นส่วนจำกัด พิมพ์อักษร, 2559.