จำเลยเป็นเจ้าพนักงานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
และการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๕๗ ในขอบเขตแห่งการที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่ให้แก่มหาวิทยาลัย ร. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยจึงได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๕ และโดยผลของมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้กระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ได้
และย่อมส่งผลพลอยทำให้ผู้เสียหายจากการ
กระทำละเมิดเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ไม่มีสิทธิจะยื่นคำร้องต่อศาล
ที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๔๔/๑
การมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับสิทธิของโจทก์ร่วมในการยื่นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๔๔/๑ เป็นหลักการคนละเรื่องกัน แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำร้องตามมาตรา ๔๔/๑
ของโจทก์ร่วมไว้พิจารณาโดยจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้าน ก็หาตัดอำนาจศาลอุทธรณ์ที่จะยกปัญหาเรื่องอำนาจยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๔๔/๑ ขึ้นวินิจฉัยเองไม่
เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างได้
แม้ว่าจะมิได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นก็ตาม ตาม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๕ วรรคสอง
เพิ่มเติม
การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ตาม
พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นไปตามมาตรา ๔๒๐
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ได้ ๒ วิธี คือ
๑.โดยวิธีการฟ้องคดีต่อศาล
๒.วิธียื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙
มาตรา ๕
หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่
ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง
แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง
อ้างอิง
สำนักงานกฤษฎีกา.
สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
[Online]. Available URL:http://web.krisdika.go.th/data/outsitedata/outside16/menu5.html
0 Comments
แสดงความคิดเห็น