คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๖๖๕/๒๕๖๐
              การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษเป็นเรื่องความรับผิดทางอาญา เมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ มิได้บัญญัติ ความหมายพิเศษของคำว่า มีไว้ในครอบครองไว้ จึงต้องถือตามความหมายทั่วไปว่า การมียาเสพติดให้โทษอยู่ในความยึดถือหรือ ปกครองดูแลของตนโดยรู้ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษเป็นการมีไว้ ในครอบครองแล้ว
               ขณะเกิดเหตุเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส ๒ ซอง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ๐.๓๙๕ กรัม ของกลางวางอยู่ใกล้ตัวจำเลยที่ ๓ และเมื่อจำเลยที่ ๓ เห็นพันตำรวจโท ป. กับพวก ก็นำเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส ดังกล่าวไปซ่อนไว้ในเสื้อชั้นในทันที เช่นนี้ ถือว่า เมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส อยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของจำเลยที่ ๓ แล้ว เมื่อจำเลยที่ ๓ รู้ว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๓ มีเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใสของกลางไว้ในครอบครอง และเมื่อเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใสของกลาง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ๐.๓๙๕ กรัม กรณีจึงต้องด้วยบทสันนิษฐาน ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสาม (๒) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๖๐ ใช้บังคับ ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ ๓ จึงมีความฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และเมื่อฟังว่า จำเลยที่ ๓ กระทำความผิดฐานดังกล่าวแล้ว เห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยที่ ๑ ตาม ป.อ.มาตรา ๘๓ ด้วย

               ตามฎีกานี้ ข้อเท็จจริงมีว่า หลังจากนั้นพันตำรวจโท ป. กับพวก นำจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไปบ้านของจำเลยที่ ๑ เมื่อไปถึงจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ ๑ นั่งอยู่ที่พื้นแล้วจำเลยที่ ๓ หยิบเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส ๒ ซอง น้ำหนัก ๐.๔๙ กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ๐.๓๙๕ กรัม ที่วางอยู่ใกล้ตัวจำเลยที่ ๓ ไปซ่อนไว้ในเสื้อชั้นใน โดยจำเลยที่ ๓ รู้ว่ามีเมทแอมเฟตามีน ชนิดเกล็ดใส อยู่ภายในซองดังกล่าว

เพิ่มเติม
               พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสาม เดิมบัญญัติว่า “...ให้ถือว่า...มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย” เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด มีผลให้ศาลต้องฟังข้อเท็จจริงไปตามที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่อาจรับฟังเป็นอย่างอื่นได้ ข้อสันนิษฐานใดจะเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดหรือไม่ ต้องพิจารณาจากถ้อยคำในบทบัญญัตินั้นๆ เช่น “ต้องถือว่า” “ให้ถือว่า” เป็นต้น
               ปัจจุบัน พ.ร.บ.ยาเสพติให้โทษ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๖๐ ใช้ข้อความในมาตรา ๑๕ วรรคสาม ใหม่ว่า “...ให้สันนิษฐานว่า... มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย” ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานที่ไม่เด็ดขาด มีผลเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ไปให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานนั้น สำหรับคดียาเสพติด จำเลยจึงมีหน้าที่หักล้างข้อสันนิษฐานนี้ ข้อสันนิษฐานที่ไม่เด็ดขาดนี้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย จะใช้คำว่า “ให้สันนิษฐานว่า” หรือ “ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า” เป็นต้น

อ้างอิง
วีระพล ตั้งสุวรรณ. การใช้ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายในคดียาเสพติดภายใต้หลักนิติธรรม.