จำเลยที่ ๑ ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้สิทธิการเช่าที่ดินพิพาทจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานี ทั้งนี้โดยจำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานี ถือว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการบุกรุกรบกวน การครอบครองที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานีโดยเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ส่วนการที่จำเลยที่ ๑ ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ต่อมานั้นเป็นผลของการบุกรุก แม้การครอบครอง ดังกล่าวยังคงกระทำต่อเนื่องกันจนถึงวันที่โจทก์ร่วมได้สิทธิครอบครอง โดยการเช่าที่ดินพิพาทจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานีก็ตาม แต่โจทก์ร่วมผู้เช่าที่ดินจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานีเป็นผู้ครอบครองหลังจากการกระทำความผิดฐานบุกรุกสำเร็จแล้ว ไม่ถือว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายตาม ป.อ.มาตรา ๓๖๒ ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ.มาตรา ๓๖๖ และพนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง เมื่อถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิร้องทุกข์และ เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ การสอบสวนความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบส่งผลให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ในความผิดฐานดังกล่าว ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ.มาตรา ๑๒๐

เพิ่มเติม
               ตามมาตรา ๓๖๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยความผิดฐานบุกรุกนั้น มีความหมายเป็นสองตอน ตอนแรกรบกวนกรรมสิทธิ์ ตอนที่สองรบกวนสิทธิครอบครอง ฉะนั้น จึงหมายรวมถึงการกระทำอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เช่าโดยปกติสุขด้วย เพราะผู้เช่าก็เป็นผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เช่า จึงเป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ให้นำคดีขึ้นว่ากล่าวเอาโทษแก่ผู้บุกรุกได้ (ฎีกาที่ ๑๓๕๕/๒๕๐๔ ประชุมใหญ่)
               มาตรา ๓๖๒  ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ้างอิง
เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์. คำอธิบาย หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วย การดำเนินคดีในขั้นตอนก่อนการพิจารณา พิมพ์ครั้งที่ ๗ แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ พลสยาม พริ้นติ้ง (ประเทศไทย), ๒๕๕๓.