ที่ดินพิพาทเดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยได้ให้บริษัท อ. เช่า ปลูกสร้างอาคารห้างสรรพสินค้าเป็นเวลา ๒๕ ปี โดยทำเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ระบุให้อาคารดังกล่าว ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทันทีเมื่อพ้นกำหนดสัญญา ต่อมาจำเลยได้นำที่ดินพิพาทไปจำนองเป็นประกันเงินกู้ไว้กับธนาคาร ก. แต่ยังประสบภาระหนี้สิน จึงมีการโอนสิทธิจำนองดังกล่าวให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้โอนต่อไปยังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยซึ่งได้โอนเป็นกรรมสิทธิ์ของตนในภายหลัง แล้วได้โอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวกลับคืนมาให้แก่โจทก์ แม้ที่ดินพิพาทมีสัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษผูกพันอยู่กับบริษัท อ. ซึ่งมีจำเลยเป็นหนึ่งในผู้บริหารที่มีอำนาจกระทำการแทน แต่ปรากฏต่อมาว่าบริษัทดังกล่าวได้ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียน อันมีผลทำให้บริษัทสิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๗๓/๓ สัญญาเช่าทรัพย์สินซึ่งผูกพันตัวบุคคลคือผู้เช่าเป็นสำคัญย่อมระงับ ไม่ตกติดไปเป็นภาระแก่โจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์
               โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาท ย่อมมีอำนาจและสิทธิที่จะใช้สอยทรัพย์สินของตน กับมีสิทธิติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของตนได้ หากยังมีการเพิกเฉยก็ชอบที่โจทก์จะใช้สิทธิความเป็นเจ้าของจัดการต่อบุคคลนั้น ๆ ได้เป็นการเฉพาะ สำหรับอาคารที่ปลูกอยู่บนที่พิพาทถือเป็นส่วนควบของที่ดิน โจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบนั้น ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๔๔ หากโจทก์ไม่ประสงค์จะคงไว้ก็ชอบที่จะรื้อถอนได้เอง ที่โจทก์มาฟ้องจำเลยว่ากระทำละเมิดเป็นคดีนี้โดยมิได้นำสืบให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยว่าได้เข้าไปดำเนินการอย่างไรในที่พิพาท อันเป็นการขัดขวางสิทธิความเป็นเจ้าของทรัพย์สินของโจทก์อย่างแน่นอน จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่มีหลักฐานรองรับ

เพิ่มเติม
               สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาคืออะไร
               ศาสตราจารย์ ดร.มานะ พิทยาภรณ์ ได้ให้คำนิยามไว้ว่า คือ “สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้เช่าได้ให้ค่าตอบแทนแก่ผู้ให้เช่านอกเหนือไปจากค่าเช่า ในลักษณะ เป็นการปลูกสร้างอาคารแล้วยกกรรมสิทธิ์ให้แก่เจ้าของที่ดินก็ดี เป็นการปลูกต้นไม้แล้วยก ให้แก่เจ้าของที่ดินก็ดี เป็นการออกเงินช่วยค่าก่อสร้างก็ดี หรือในกรณีอื่นในทำนองเดียว กัน แต่ไม่รวมถึงการให้เงินกินเปล่า (แป๊ะเจี๊ยะ) แต่อย่างใด
               สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาไม่ใช่สิทธิ์เฉพาะตัวแต่ ตกทอดถึงทายาทของผู้เช่าเมื่อผู้เช่าตาย
               ฎีกาที่ ๑๗๒/๒๔๘๘ (ป) เจ้าของตึกทำสัญญากับผู้เช่าว่ายอมให้ผู้เช่าออกทุนสร้างตึกให้ดีขึ้นตามรายการที่ตกลงกัน เมื่อเสร็จแล้วเจ้าของยอมให้ผู้เช่าๆ ต่อไป ๑๕ ปี ในอัตราค่าเช่าเดิม ดังนี้เป็นสัญญาต่างตอบแทนกันอันเกี่ยวกับทรัพย์สินย่อมตกทอด ไปยังทายาท ผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้เช่า ฟ้องขอให้ผู้ให้เช่ายอมให้เช่าต่อไปจนครบ ๑๕ ปี ตามสัญญาเช่าได้
               ฎีกาที่ ๘๐๑-๘๐๒/๒๔๙๒ สัญญาเช่าที่ดินมีว่า ผู้เช่าต้องหาต้นผลไม้ มาปลูกเองนั้นเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อผู้เช่าตายแล้วสิทธิและหน้าที่ของผู้เช่าก็ตกไป ยังทายาท ทายาทของผู้เช่ามีสิทธิเช่าต่อไปจนครบกำหนดตามสัญญาเช่า

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๕๖๙ อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า
               ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย
               มาตรา ๑๒๗๓/๓ เมื่อสิ้นกำหนดเวลาตามที่แจ้งในหนังสือบอกกล่าวตามมาตรา ๑๒๗๓/๑ หรือมาตรา ๑๒๗๓/๒ แล้ว และห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้ชำระบัญชีมิได้แสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น นายทะเบียนจะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียนก็ได้ ในการนี้ให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น สิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือ บริษัทออกเสียจากทะเบียน แต่ความรับผิดชอบของหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นมีอยู่เท่าไรก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ยังมิได้สิ้นสภาพนิติบุคคล

อ้างอิง
ไผทชิต เอกจริยกร. คำอธิบาย เช่าทรัพย์-เช่าซื้อ พิมพ์ครั้งที่ ๒๐. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๖๐.