โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่
๑ ร่วมรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างของ ป. ในผลแห่งละเมิดซึ่ง ป.
ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง และให้จำเลยที่ ๓
ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยที่ ๑
และที่ ๓ ย่อมแตกต่างกัน จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ
๑ ปี
นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม
ป.พ.พ.มาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง จำเลยที่ ๓ ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันวินาศภัย
ซึ่งมีอายุความ ๒ ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยตามมาตรา ๘๘๒ วรรคหนึ่ง
อายุความฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ สามารถแยกออกจากกันได้
จำเลยที่ ๓
ไม่ได้ยกอายุความใด ๆ ขึ้นต่อสู้
จึงไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ ขาดอายุความหรือไม่
ส่วนฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ขาดอายุความไปแล้วก็เป็นคุณเฉพาะจำเลยที่ ๑
ไม่มีผลถึงจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๒๙๑ และ ๒๙๕
การฟ้องของโจทก์ในมูลละเมิดสำหรับจำเลยที่
๑ ขาดอายุความมิใช่เหตุทำให้หนี้ละเมิดระงับไป จำเลยที่ ๑
ยังคงต้องมีความรับผิดชอบในมูลละเมิด เพียงแต่จำเลยที่ ๑ มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ในมูลละเมิดนั้นได้ตาม
ป.พ.พ.มาตรา ๑๙๓/๑๐ ไม่ใช่ไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อจำเลยที่ ๑
ยังคงต้องความรับผิดชอบต่อโจทก์ผู้ต้องเสียหายอยู่ จำเลยที่ ๓
ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงต้องรับผิดต่อโจทก์โดยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามมาตรา
๘๘๗
เพิ่มเติม
การนับกำหนดอายุความเหตุละเมิด
ฎีกาที่
๒๐๘๕/๒๕๔๐ เมื่อเหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๑
จึงไม่นับวันดังกล่าวซึ่งเป็นวันแรกแห่งระยะเวลารวมเข้าด้วย ต้องนับวันที่ ๒
พฤศจิกายน ๒๕๓๑ เป็นวันเริ่มต้น และครบหนึ่งปีในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๒
ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่โจทก์ฟ้องคดีได้
ข้อเท็จจริง
ป.
เป็นลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
จำเลยที่ ๑
และที่ ๒ เป็นผู้เอาประกันภัย
จำเลยที่ ๓
เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถบรรทุกลากจูงของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
วันที่ ๒๒
กรกฎาคม ๒๕๕๗ ป.ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขับรถบรรทุกลากจูงเฉี่ยวชนกับรถบรรทุกคันอื่นแล้วพุ่งชนรั้วกำแพงและอาคารร้านค้าฝั่งบ้านพักพนักงานอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย
วันที่ ๙
กันยายน ๒๕๕๘ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย เป็นคดีนี้
ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่
๓ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๔๔๘
สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น
ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึ่งต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด
แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา
และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้
ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ
มาตรา ๘๘๒
ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน
ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันวินาศภัย
ในการเรียกให้ใช้หรือให้คืนเบี้ยประกันภัย
ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสองปีนับแต่วันซึ่งสิทธิจะเรียกให้ใช้หรือคืนเบี้ยประกันภัยถึงกำหนด
0 Comments
แสดงความคิดเห็น