การเลิกบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๓๗ ให้สิทธิผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดขอให้ศาลมีคำสั่งให้เลิกบริษัทเมื่อมีเหตุตาม (๑) ถึง (๔) โดยอาจทำเป็นคำร้องหรือคำฟ้องก็ได้ และโดยไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรา ๑๒๓๖ ก่อน
               ผู้ร้องที่ ๑ กับผู้คัดค้านที่ ๑ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงและไม่ยอมลงลายมือชื่อร่วมกันเพื่อทำกิจการใด ๆ ของบริษัทถึงขั้นต่างฝ่ายต่างฟ้องดำเนินคดีทางอาญาต่อกัน ทำให้บริษัทหยุดทำการมานับถึงวันที่ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอเป็นเวลานานถึง ๔ ปีเศษ มีเพียงการติดตามหนี้สินที่มีสิทธิได้รับเท่านั้น จึงเป็นกรณีที่บริษัทหยุดทำการถึงหนึ่งปีเต็มตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๓๗ (๒) ซึ่งเป็นเหตุที่ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดได้ และเมื่อมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ผู้ร้องทั้งสามซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทได้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่
               ผู้ร้องที่ ๑ กับผู้คัดค้านที่ ๑ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนไม่สามารถที่จะร่วมมือทำธุรกิจด้วยกันได้ โดยผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างไม่พยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกรรมการด้วยการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นโดยถูกต้องหรือด้วยวิธีการอื่นใดเพื่อให้บริษัทสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ทั้งไม่ปรากฏว่าบริษัทยังมีลู่ทางในการประกอบธุรกิจให้ได้ผลกำไร กรณีมีเหตุสมควรที่ศาลจะสั่งให้เลิกบริษัทตามมาตรา ๑๒๓๗ (๒) ทั้งนี้ไม่ว่าผู้ร้องที่ ๑ จะเป็นฝ่ายไม่ยอมให้ความร่วมมือกับผู้คัดค้านที่ ๑ ในการบริหารกิจการของบริษัทหรือไม่ก็ตาม

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๒๓๗/๒๔๙๐ ผู้จัดการบริษัทในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้น ฟ้องกรรมการด้วยกัน ขอให้เลิกบริษัทได้ ไม่จำเป็นต้องให้กรรมการของบริษัททั้งหมดมอบอำนาจก่อนเพราะไม่ใช่ฟ้องในฐานะตัวแทนของบริษัท
ในการพิจารณาของศาลว่า จะให้เลิกบริษัทหรือไม่ เป็นดุลพินิจ ดูฎีกาที่ ๑๗๗๔/๒๕๒๒
               ฎีกาที่ ๑๗๗๔/๒๕๒๒ การที่บริษัทจำกัดทำผิดวัตถุประสงค์ของบริษัท ก็ไม่ใช่เหตุที่จะปรับตามมาตรา ๑๒๓๗ ที่จะให้ศาลสั่งเลิกบริษัทได้ และแม้บริษัทจะเริ่มประกอบการค้าเกิน ๑ ปี นับแต่วันจดทะเบียนบริษัทก็ตาม แต่มาตรา ๑๒๓๗ มิได้เป็นบทบังคับให้ศาลสั่งเลิกบริษัท เพียงแต่บัญญัติให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าสมควรสั่งให้เลิกบริษัทหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเงินค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นชำระให้บริษัทจำเลยด้วยเงินสดและเช็คส่วนใหญ่ โจทก์ที่ ๔ ซึ่งเป็นกรรมการรักษาเงินเป็นคนเก็บรักษาและไม่ยอมมอบให้บริษัทจำเลย ดังนั้นที่บริษัทจำเลยไม่เริ่มทำการค้าภายใน ๑ ปี อาจเป็นเพราะบริษัทจำเลยไม่มีทุนดำเนินการค้า จึงยังไม่สมควรที่จะสั่งเลิกบริษัทจำเลย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๒๓๖ อันบริษัทจำกัดยอมเลิกกันด้วยเหตุดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
               (๑) ถ้าในข้อบังคับของบริษัทมีกำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน เมื่อมีกรณีนั้น (๒) ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น
               (๓) ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้น
               (๔) เมื่อมีมติพิเศษให้เลิก
               (๕) เมื่อบริษัทล้มละลาย
               มาตรา ๑๒๓๗ นอกจากนี้ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดด้วยเหตุต่อไปนี้ คือ
               (๑) ถ้าทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท
               (๒) ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็ม
               (๓) ถ้าการค้าของบริษัททำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้
               (๔) ถ้าจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึงสามคน
               (๕) เมื่อมีเหตุอื่นใดทำให้บริษัทนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้
               แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้ง บริษัท ศาลจะสั่งให้ยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือให้มีการประชุมตั้งบริษัทแทนสั่งให้เลิกบริษัท ก็ได้แล้วแต่จะเห็นควร