คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๒๘/๒๕๖๑
              จำเลยเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินพิพาท (น.ส. ๓ ก.) มาโดยซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยเสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า จำเลยซื้อที่ดินพิพาทและจดทะเบียนสิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งนอกจากจะไม่มีประเด็นว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหรือไม่แล้ว จำเลยยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖ ด้วยว่ากระทำการโดยสุจริต การที่โจทก์เป็นผู้ที่ได้ที่ดินพิพาทโดยการรับโอนการครอบครองจาก ม. ผู้มีชื่อถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจึงไม่อาจยกสิทธิที่ได้มาโดยการรับโอนการครอบครองขึ้นต่อสู้จำเลยได้ ตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๐ จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์

                    ตามฎีกานี้ ข้อเท็จจริง ที่ดินพิพาท มีชื่อ ม. เป็นเป็นเจ้าของที่ดิน เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ ม. ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่โจทก์โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาจำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลในคดีที่ ม. ถูกฟ้องเป็นจำเลยและได้จดทะเบียนโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๗

เพิ่มเติม
               คำว่า สุจริต คือไม่รู้ในขณะซื้อทรัพย์ว่า ทรัพย์ที่ขายทอดตลาดนั้นเป็นของผู้อื่นมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา(ฎีกาที่ ๘๒๑/๒๕๑๖) แต่ถ้ารู้ถือว่าไม่สุจริต

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๓๓๐ สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้น ท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลาย

อ้างอิง
สมจิตร์ ทองศรี. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วย ทรัพย์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2559.