ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องคำให้การว่า จำเลยต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายปีภาษี ๒๕๕๒ ที่ถูกต้องแก่โจทก์หรือไม่ การจะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวต้องวินิจฉัยก่อนว่าเงินจำนวน ๒,๖๙๗,๓๗๒.๔๒ บาท ที่โจทก์หักไว้เป็น รายได้ของโจทก์ในการส่งเบี้ยประกันภัยของลูกค้าให้จำเลยนั้น จำเลยได้คิดหักไว้ ณ ที่จ่ายเป็นภาษีเงินได้ของโจทก์หรือไม่ ซึ่งตามคำให้การและทางนำสืบของจำเลยมิได้ปฏิเสธว่าจำเลยมิได้หักไว้ ณ ที่จ่ายแก่โจทก์ในเงินจำนวนดังกล่าว เพียงแต่ให้การปฏิเสธว่าเงินจำนวนดังกล่าวจำเลยได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่บริษัทไปแล้ว ไม่มีหน้าที่ต้องออกให้โจทก์อีก การที่ศาลอุทธรณ์ตั้งประเด็นวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินจำนวน ๒,๖๙๗,๓๗๒.๔๒ บาท จากจำเลยหรือไม่ เพียงใด แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์จำเลยยังโต้เถียงกันว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่ ข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท ขัดกับข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติว่าโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากจำเลยแล้วโดยการหักไว้ก่อนส่งเบี้ยประกันภัยของลูกค้าให้แก่จำเลยและยังเป็นการปฏิเสธการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดี เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ
               จำเลยไม่ยอมออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแก่โจทก์ ทั้งที่จำเลยได้หักออกจากเงินผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากการหาประกันให้จำเลยและหักไว้ก่อนจะส่งให้จำเลย โดยบริษัท บ. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโจทก์หรือเงินจำนวนดังกล่าว แต่จำเลยกลับออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้บริษัท บ. นั้น แม้มีการทำเอกสารระหว่างจำเลยและบริษัท บ. ว่าบริษัท บ. ได้รับผลประโยชน์จากเบี้ยประกันภัยที่เก็บจากลูกค้าของจำเลยแทนโจทก์ และจำเลยหักภาษี ณ ที่จ่ายแก่บริษัท บ. ไว้ก็ตาม แต่บริษัท บ. ไม่ใช่ผู้จ่ายเงินให้โจทก์ ไม่มีหน้าที่หักเงินภาษี ณ ที่จ่ายแก่โจทก์และบริษัท บ. ก็ไม่ได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ทั้งที่โจทก์เป็นผู้ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวเป็นรายได้ตามความเป็นจริง ทำให้จำนวนเงินที่หักไว้สำหรับภาษีเงินได้ที่จ่ายโจทก์และหลักฐานแสดงยอดจำนวนเงินได้ที่โจทก์ได้รับจริงก่อนหักภาษี ณ ที่จ่ายหายไปจากระบบภาษีเช่นนี้ไม่ใช่วิธีการวางแผนบริหารภาษีที่ชอบด้วย กฎหมาย แม้จำเลยให้การต่อสู้ว่าเงินจำนวนที่โจทก์ฟ้องจำเลยจ่ายให้บริษัท บ. แต่จำเลยไม่ได้ให้การว่าเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องฟ้องร้องบังคับบริษัท บ. ให้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย มิได้มีการขอให้เรียกบริษัท บ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมหรือนำสืบแสดงการประกอบการของบริษัท บ. ว่ามีการทำธุรกิจหลักอย่างใด มีรายได้จากการประกอบการอย่างไร มีข้อตกลงกับโจทก์หรือไม่อย่างไร จำเลยกลับให้การว่า โจทก์สามารถนำยอดเงินตามคำฟ้องไปแจ้งกรม สรรพากรเพื่อเสียภาษีได้เอง ทั้งที่โจทก์ต้องการหลักฐานที่โจทก์ถูกจำเลยหักเงินรายได้ไว้เป็นภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อแสดงต่อกรมสรรพากร ในการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ดังนี้ การที่จำเลยได้หักเงินออกจากเงินค่านายหน้าจำนวน ๒,๖๙๗,๓๗๒.๔๒ บาท เพื่อเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ของโจทก์แล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากยอดเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
               คำขอบังคับของโจทก์ที่ขอให้บริษัทจำเลยออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ถูกต้องแก่โจทก์ไม่ใช่การทำนิติกรรม แต่เป็นหนี้กระทำการอย่างอื่น จึงไม่อาจถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้

เพิ่มเติม
               ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ได้แก่ บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคล(มาตรา ๕๐ แห่งประมวลรัษฎากร)

ประมวลรัษฎากร
               มาตรา ๕๐ ทวิ ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษีให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายสองฉบับ มีข้อความตรงกันในกรณีและตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
               (๑) ในกรณีตามมาตรา ๓ เตรส ให้ออกในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
               (๒) ในกรณีตามมาตรา ๕๐ (๑) ให้ออกภายในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ของปีถัดจากปีภาษีหรือภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายออกจากงานในระหว่างปีภาษี
               (๓) ในกรณีตามมาตรา ๕๐ (๒) (๓) หรือ (๔) ให้ออกในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
               หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ใช้ตามแบบที่อธิบดีกำหนด
               อธิบดีมีอำนาจยกเว้นการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ในกรณีที่เห็นสมควร