บ. โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้สินและสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์
โดยตกลงให้โจทก์เป็นผู้ชำระค่าที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือแก่ บ. จึงมิใช่
บ. โอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๓๐๖ วรรคหนึ่ง แต่ บ. ได้โอนหนี้ให้โจทก์มาเป็นลูกหนี้ชำระค่าที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เหลือแก่
พ. ด้วย จึงเป็นเรื่องแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จาก บ. มาเป็นโจทก์
ซึ่งจะต้องมีการทำสัญญาระหว่างเจ้าหนี้คือ พ. กับ ลูกหนี้คนใหม่คือโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๓๕๐ จึงจะมีผลผูกพันเจ้าหนี้คือ พ. จะเพียงแต่ทำเป็น หนังสือระหว่าง บ.
กับโจทก์หาชอบไม่ เมื่อโจทก์ลูกหนี้คนใหม่ยังไม่ได้ทำสัญญากับ พ. เจ้าหนี้ใหม่
โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับ พ. ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้ พ. โอนที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์
เมื่อ พ. จดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่
๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ.
จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของ พ. ให้แก่จำเลยที่
๑ และจำเลยที่ ๒ ตามพินัยกรรม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนดังกล่าวได้
ตามฎีกานี้ บ.
เป็นมารดาของโจทก์ สัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่าง พ. และ บ. มีข้อตกลงซื้อขายกันในราคา
๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ชำระมัดจำ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๐ โจทก์นำสืบว่าได้ชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอีก
๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ พ. เมื่อวันที่
๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๔ ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.๕ แต่ก็ยังคงเหลือค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอีก
๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่ บ. ต้องชำระให้แก่
พ. พ. และ บ. จึงยังคงมีฐานะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกันอยู่ กล่าวคือ
พ. มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระค่าที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เหลือจาก
บ. และเป็นลูกหนี้ที่มีหน้าที่ต้องโอนที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ บ. ขณะเดียวกัน
บ. ก็เป็นลูกหนี้ที่มีหน้าที่ต้องชำระค่าที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เหลือแก่ พ.
และเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก พ.
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๓๐๖ การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ
ท่านว่าไม่สมบูรณ์
อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอก
กล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้
ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ
ถ้าลูกหนี้ทำให้พอแก่ใจผู้โอนด้วยการใช้เงิน
หรือด้วยประการอื่นเสียแต่ก่อนได้รับบอกกล่าว หรือก่อน ได้ตกลงให้โอนไซร้
ลูกหนี้นั้นก็เป็นอันหลุดพ้นจากหนี้
มาตรา ๓๕๐ แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น
จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่
0 Comments
แสดงความคิดเห็น