วันที่โจทก์ชำระราคาที่ดินให้จำเลยครบถ้วนถือว่าเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ จากจำเลยได้ เมื่อนับถึงวันฟ้องล่วงเลยเกิน ๑๐ ปี ถือว่าคดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ แต่หลังจากนั้นจำเลยให้ทนายจำเลยมีหนังสือแจ้งกำหนดวันนัดให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินจังหวัด ถือได้ว่าจำเลยสละประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๒๔ จำเลยไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้

เพิ่มเติม
               การสละประโยชน์แห่งอายุความ หมายถึง การที่ลูกหนี้ซึ่งได้สิทธิปฏิเสธที่จะไม่ชำระหนี้มาแล้วจากการที่หนี้ขาดอายุความ กลับสละประโยชน์หรือสิทธิที่ได้มานี้ หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ลูกหนี้ไม่ประสงค์จะยกเหตุขาดอายุความขึ้นปฏิเสธการชำระหนี้กับเจ้าหนี้นั่นเอง
               ลูกหนี้ที่สละประโยชน์แห่งอายุความไปแล้ว ไม่สามารถอ้างเหตุขาดอายุความมาปฏิเสธ ไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้อีก
              
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๙๓/๒๔ เมื่ออายุความครบกำหนดแล้ว ลูกหนี้จะสละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสียก็ได้ แต่การสละประโยชน์เช่นว่านี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกหรือผู้ค้ำประกัน

อ้างอิง
กำชัย จงจักรพันธ์. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยระยะเวลา. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558.