พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๒๖/๔ กำหนดความรับผิดของผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ ให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งแก่รัฐ มิใช่โทษในทางอาญา ส่วนวิธีการเรียกร้องค่าเสียหายมาตรา ๒๖/๕ กำหนดให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถเรียกค่าเสียหายตามมาตรา ๒๖/๔ เข้ามาพร้อมกับคำฟ้องคดีอาญาอันมีลักษณะเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติซึ่งไม่ต้องห้ามมิให้มีผลย้อนหลัง
               โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามกับพวกกระทำความผิดเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๙ ก่อนวันที่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่ให้เพิ่มมาตรา ๒๖/๔ และมาตรา ๒๖/๕ มี ผลใช้บังคับก็ตาม แต่โจทก์ยื่นคำฟ้องภายหลังวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสามซึ่งถูกฟ้องว่าร่วมกันทำลายทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติ ๑๙๐,๐๑๕.๒๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่กรมป่าไม้ไปในคราวเดียวกัน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
               คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลล่างทั้งสองมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงและมิได้วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔ ๑ (๔) (๕) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยยังมิได้สอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่ง และโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะให้เป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯมาตรา ๒๖/๔ การดำเนินกระบวนพิจารณาและคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ

               ตามฎีกานี้ มีประเด็นสู่ศาลฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมป่าไม้หรือไม่ ซึ่งโจทก์ฎีกาโดยสรุปว่า ค่าเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา ๒๖/๔ และมาตรา ๒๖/๕ นั้น กฎหมายดังกล่าวไม่ใช่การลงโทษในทางอาญาจึงย้อนหลังให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมป่าไม้ได้

เพิ่มเติม
               กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง หากเป็นกรณีไม่ใช่โทษในทางอาญา มีผลย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่จำเลยได้
               ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ มิใช่คำสั่งที่มีผลทำให้บุคคลต้องรับโทษทางอาญา(ฎีกาที่ ๖๔๑๑/๒๕๓๔), การเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง(ฎีกาที่ ๙๐๘๓/๒๕๔๔), วิธีการทางวินัยในการริบทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้ทรัพย์สินโดยไม่ชอบตามมาตรา ๒๐ แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.๒๕๑๘(ฎีกาที่ ๒๑๙/๒๕๓๙), การเปลี่ยนโทษจำคุกจำเลย(ซึ่งขณะกระทำความผิดมีอายุ ๑๖ ปีเศษ) ไปรับการฝึกและอบรมยังสถานพินิจ(ฎีกาที่ ๔๕๙๓/๒๕๔๕) เช่นนี้ มิใช่โทษในทางอาญาตาม ป.อ.มาตรา ๑๘

ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๒ บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
               ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง

พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗
               มาตรา ๒๖/๔ ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการทำลายหรือเป็นเหตุให้เกิดการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น
               มาตรา ๒๖/๕ ในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาให้เรียกค่าเสียหายตามมาตรา ๒๖/๔ ไปในคราวเดียวกัน

อ้างอิง
เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์. คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พลสยาม พริ้นติ้ง(ประเทศไทย), 2551.