จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์
ประเภทเกมที่บ้านเลขที่หนึ่ง แต่ไปประกอบกิจการตามที่ได้รับอนุญาตที่บ้านเลขที่อีกที่หนึ่งเมื่อสถานที่ประกอบกิจการเป็นสาระสำคัญในการขอใบอนุญาตเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน
การกระทำ ของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์
โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๕๓
วรรคหนึ่ง, ๔๒ ตามฟ้อง
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๓๘๖๐/๒๕๕๙ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์
พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๕๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์
ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน" และ
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๔ บัญญัติว่า "ร้านวีดิทัศน์" หมายความว่าสถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย
เล่น หรือดูวีดิทัศน์ การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันประกอบกิจการให้บริการร้านเพลงคาราโอเกะอันเป็นร้านวีดิทัศน์
โดยทำเป็นธุรกิจอยู่ที่ร้าน ค.
และได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการให้บริการเพลงคาราโอเกะดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาต
จากนายทะเบียนท้องที่ และไม่ใช่กรณีที่ได้รับยกเว้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความใน
พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๓๐ และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์
พ.ศ.๒๕๕๑ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบของความผิดตาม
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๘๒ ประกอบมาตรา ๕๓ วรรคหนึ่ง แล้ว
เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
จากนายทะเบียน ส่วนบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๕๓ วรรคสี่
ที่ว่า ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับแก่การประกอบกิจการร้านวีดิ
ทัศน์ที่ตั้งอยู่ในสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการนั้น
ไม่นำมาใช้กับคดีนี้เพราะไม่ปรากฏในคำบรรยายฟ้องส่วนใดที่ระบุว่าร้านอาหาร ค. ของจำเลยกับพวกเป็นร้านวีดิทัศน์ที่ตั้งอยู่ในสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
ฎีกาที่ ๔๔๓๘/๒๕๕๓ ความผิดฐานประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๕๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
ห้ามผู้ใดจัดตั้งหรือ ประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน
เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน โดยมาตรา ๔ บัญญัติให้คำนิยามคำว่า
"ร้านวีดิทัศน์" ว่า
สถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอ่านวยความสะดวกในการฉาย เล่น
หรือดูวีดิทัศน์ แสดงว่า กิจการร้านวีดิทัศน์ คือ การฉาย เล่น
หรือดูวีดิทัศน์เท่านั้น ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามข้อ (จ) ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า
จำเลยจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์
จึงไม่เป็นความผิด ตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษได้
พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์
พ.ศ.๒๕๕๑
มาตรา ๔
ในพระราชบัญญัตินี้
“วีดิทัศน์” หมายความว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น
คาราโอเกะที่มีภาพประกอบหรือลักษณะอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“ร้านวีดิทัศน์”
หมายความว่า สถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย
เล่น หรือดูวีดิทัศน์
มาตรา ๔๒ ถ้าใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือบกพร่องในสาระสำคัญให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งต่อนายทะเบียนและยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบถึงกรณีดังกล่าว
การขอใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๕๓ ห้ามผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน
เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน
ใบอนุญาตนั้น
ให้ออกสำหรับร้านวีดิทัศน์แต่ละแห่ง
การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับแก่การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ที่ตั้งอยู่ในสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน
การออกกฎกระทรวงตามวรรคสามจะกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอาคารหรือสถานที่ตั้งของร้านวีดิทัศน์ด้วยก็ได้
0 Comments
แสดงความคิดเห็น