ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสาม เป็นการเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยที่ ๑ อันเป็นผู้เป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทนซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้ เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการทำนิติกรรมจดทะเบียนขายฝากระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และการทำนิติกรรมจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ มิใช่เป็นการโอนอันมีค่าตอบแทนซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริต กรณีย่อมต้องด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ โจทก์ทั้งสามไม่อาจจะเรียกให้เพิกถอนนิติกรรมตามคำฟ้องได้ แม้การที่จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ทำการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทอื่นซึ่งมีโจทก์ทั้งสามรวมอยู่ด้วยจะทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกกับโจทก์ทั้งสามที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก

เพิ่มเติม
               มาตรา ๑๓๐๐ เป็นเรื่องบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ซึ่งรวมถึงผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ทั้งโดยนิติกรรมและโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมด้วย ซึ่งการได้มาโดยการรับมรดก เป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมด้วย(ฎีกาที่ ๗๐๐๗/๒๕๔๐)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๓๐๐ ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจ เรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่า กรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้
               มาตรา ๑๗๒๒ ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้ หรือได้รับอนุญาตจากศาล

อ้างอิง
บัญญัติ สุชีวะ. คำอธิบายกฎหมายลักษณะทรัพย์. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพมหานครสำนักพิมพ์บริษัท กรุงสยาม พับลิชชิ่ง จำกัด, 2559.