แม้จำเลยจะมิได้พูดจาข่มขู่หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่เดินเข้าไปในห้องพักอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหายเวลาวิกาล
แล้วเปิดเสื้อให้ดูพร้อมทำท่าคล้ายกับจะชักอาวุธลักษณะเป็นมีดปลายแหลมจนทำให้ ภ. รู้สึกตกใจกลัว เกรงว่าจะถูกทำร้ายและไม่กล้าขัดขึ้น จากนั้นจำเลยหยิบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไป จึงเป็นการที่จำเลยแสดงอาการขู่เข็ญ ภ. แล้วว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายในขณะเดียวกันกับลักทรัพย์หรือใกล้ชิดกับการลักทรัพย์ต่อเนื่องเป็นเหตุการณ์เดียวกัน
ขณะเกิดเหตุ อ. ไปที่ห้องพักของเพื่อนซึ่งอยู่ใกล้เคียงหรือเยื้องกับห้องพักที่
อ. กับ ภ. เช่าอยู่ แม้ อ. ไม่ได้ส่งมอบการครอบครองหรือฝากคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไว้กับ
ภ. จึงเป็นกรณีที่ อ. ให้ ภ. ช่วยดูแลคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คชั่วคราวเฉพาะเหตุหรือชั่วระยะเวลาที่
อ. ไปห้องพักของเพื่อน ถือว่าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คยังอยู่ในความครอบครองของ อ. เมื่อจำเลยชิงทรัพย์ดังกล่าวไป อ. เป็นผู้เสียหาย มิใช่ ภ. เป็นผู้เสียหายตามฟ้อง
จำเลยให้การรับว่าลักทรัพย์ของ อ. ไป แต่ปฏิเสธว่า
ไม่ได้ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้มีดแทง ภ. ผู้เสียหาย แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่า
คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คอยู่ใน ความครอบครองของ อ. แตกต่างกับข้อเท็จจริงว่าอยู่ในความครอบครองของ
ภ. ดังที่กล่าวในฟ้อง แต่ข้อแตกต่างมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๓๙๕/๒๕๕๓
ความผิดฐานชิงทรัพย์ซึ่งนำไปสู่ความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น
เป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย
เมื่อมีการใช้กำลังประทุษร้ายแล้ว
แม้จะไม่ทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจก็เข้าองค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑
ในประมวลกฎหมายนี้
(๖) “ใช้กำลังประทุษร้าย” หมายความว่า
ทำการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล
ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ
ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้
ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน
มาตรา ๓๓๙ ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย
หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(๑)
ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(๒) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(๓)
ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(๔)
ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
(๕)
ให้พ้นจากการจับกุม
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาท ถึงสองแสนบาท
ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา
๓๓๕ หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ
เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้ สำหรับประกอบกสิกรรม
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึง
สามแสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึง ยี่สิบปี
และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
0 Comments
แสดงความคิดเห็น