มีดที่จำเลยที่ ๑ ใช้แทงผู้เสียหายเป็นมีดเดือยไก่ตัวมีดยาว ๓ ถึง ๔ นิ้ว กว้างประมาณครึ่งนิ้วโดยจำเลยที่ ๑ แทงผู้เสียหาย ๓ ครั้ง ด้านหน้าที่บริเวณชายโครงซ้ายอันเป็นที่ตั้งของอวัยวะสำคัญ ๑ ครั้ง และด้านหลังอีก ๒ ครั้ง ขณะผู้เสียหายกำลังชกต่อยกับจำเลยที่ ๒ โดยผู้เสียหายไม่มีอาวุธติดตัว เมื่อผู้เสียหายมีเลือดและลมรั่วในปอดด้านซ้าย แสดงว่าจำเลยที่ ๑ แทงผู้เสียหายโดยแรง จำเลยที่ ๑ ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าอาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ จำเลยที่ ๑ จึงมีเจตนาฆ่า เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๑ มีความผิดฐานพยายามฆ่า
               ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ ต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่าผู้เสียหายในทางคดีอาญา เช่นเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามมาตรา ๒ (๔) มาใช้บังคับ แม้ ผู้เสียหายมีส่วนในการกระทำความผิดนั้นก็เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้เสียหายที่จะร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป
               ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษายกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายมิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยเป็นการไม่ชอบ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕

               ตามฎีกานี้ ข้อเท็จจริงยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ศ. ผู้เสียหายฝ่ายหนึ่งและจำเลยทั้งสองอีกฝ่ายหนึ่งสมัครใจวิวาทกัน โดยจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นด้วยการพูดจาแสดงท่าที่จะประทุษร้ายผู้เสียหายก่อน ทำให้ผู้เสียหายไม่พอใจ ลุกขึ้นผลักจำเลยที่ ๒ แล้วผู้เสียหายกับจำเลยที่ ๒ ชกต่อยกัน ระหว่างนั้นจำเลยที่ ๑ ชักมีดสั้นออกมาแทงผู้เสียหายถูกด้านหน้า ๑ ครั้งและด้านหลัง ๒ ครั้ง เกิดบาดแผลที่ชายโครงซ้าย ๑ แผล และบาดแผลฉีกขาดที่หลัง ๒ แผล แต่ละแผลยาวประมาณ ๑ เซนติเมตร ทำให้มีเลือดและลมรั่วในปอด ด้านซ้ายตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.๑

ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๒๘๘ ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๔๔/๑ ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือ ได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้
               การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแห่งนั้น ทั้งนี้คำร้องดังกล่าวต้องแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง หากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นยังขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องให้ชัดเจนก็ได้
               คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการตามความในมาตรา ๔๓ แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้
               มาตรา ๑๙๕ ข้อกฎหมายทั้งปวงอันคู่ความอุทธรณ์ร้องอ้างอิงให้แสดงไว้โดยชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์ แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น
               ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวล กฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์ เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นก็ตาม