สิทธิจำนองเป็นทรัพยสิทธิจะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อมีกรณีต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๔๔ (๑) ถึง (๖) ผู้รับจำนองซึ่งทรงสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิบังคับจำนองแม้หนี้ที่ประกันหรือสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ เพียงแต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๒๗ และมาตรา ๗๔๕ บัญญัติไว้ ซึ่งเป็นบทกฎหมายสารบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่แก่คู่กรณีที่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โดยหากเจ้าหนี้ประสงค์บังคับตามสิทธิก็ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพราะเหตุถูกลูกหนี้โต้แย้งสิทธิตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ อันเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติคือ กฎหมายวิธีพิจารณาความบัญญัติไว้
               โจทก์เพิ่งยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้นคือ วันที่อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ โจทก์จึงสิ้นสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗๑ (เดิม) การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ ๑ หลังจากโจทก์สิ้นสิทธิบังคับคดีแล้ว จึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อมาตรา ๒๗๑ (เดิม) ศาลชอบที่จะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดทรัพย์สินจำนองตามมาตรา ๒๙๖ วรรคหนึ่ง (เดิม) โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ ๑ ออกขายทอดตลาดในคดีนี้ได้

               ตามฎีกานี้ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ การร้องขอให้บังคับคดีจึงต้องกระทำภายในระยะเวลาสิบปี คือภายในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ โจทก์ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ จึงล่วงพ้นระยะเวลาสิบปี

เพิ่มเติม  
ขั้นตอนต่างๆ ของการบังคับคดี
               ๑.เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี
               ๒.ต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว
               ๓.ต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

               - มาตรา ๒๗๑ เดิม ปัจจุบัน คือ มาตรา ๒๗๔
               -มาตรา ๒๙๖ เดิม ปัจจุบันคือ มาตรา ๒๙๕
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
               มาตรา ๒๗๔ ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ชำระหนี้ (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นตามบทบัญญัติแห่งภาคนี้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง และถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องใดไว้หรือได้ดำเนินการบังคับคดีโดยวิธีอื่นไว้บางส่วนแล้วภายใน ระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่น นั้นต่อไปจนแล้วเสร็จได้
               ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดให้ชำระหนี้เป็นงวด เป็นรายเดือน หรือเป็นรายปี หรือ กำหนดให้ชำระหนี้อย่างใดในอนาคต ให้นับระยะเวลาสิบปีตามวรรคหนึ่งตั้งแต่วันที่หนี้ตามคำ พิพากษาหรือคำสั่งนั้นอาจบังคับให้ชำระได้
               ถ้าสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นการให้ชำระเงิน ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์ เฉพาะสิ่ง บุคคลซึ่งได้รับโอนหรือรับช่วงสิทธิตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นมีอำนาจบังคับคดีตามความในหมวด ๒ การบังคับคดีในกรณีที่เป็นหนี้เงินหรือหมวด ๓ การบังคับคดีในกรณีที่ให้ส่งคืน หรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้วแต่กรณี โดยการร้องขอต่อศาลเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป
               มาตรา ๒๙๕ ในกรณีที่คำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งศาลในชั้นบังคับคดีบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องเพิกถอนหรือแก้ไขคำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งดังกล่าวนั้น เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง หรือเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาล หรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าว ยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขคำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วน หรือมีคำสั่งอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร
               ภายใต้บังคับมาตรา ๓๓ วรรคสาม ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมาย เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง หรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าว ยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควร
               การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองอาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ต่ำกว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมายนั้นแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น และในกรณีเช่นว่านี้ผู้ยื่นคำร้องจะขอต่อศาลในขณะเดียวกันนั้นให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้
               เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเมื่อได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้
               (๑) ในกรณีที่บังคับกำหนดให้ส่งทรัพย์สิน กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างไร เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับที่ให้ส่งทรัพย์สิน กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างนั้นแล้ว แต่ถ้าการปฏิบัติตามคำบังคับดังกล่าวอาจแยกเป็นส่วน ๆ ได้ เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับในส่วนใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะในส่วนนั้น
               (๒) ในกรณีที่คำบังคับกำหนดให้ใช้เงิน เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินตามมาตรา ๓๓๙ มาตรา ๓๔๐ มาตรา ๓๔๒ มาตรา ๓๔๓ หรือ มาตรา ๓๔๔ แล้วแต่กรณีแล้ว แต่ถ้าทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดีมีหลายรายการ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะทรัพย์สินรายการนั้น
               ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิ่งให้ชักช้า ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้อื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับจากการยื่นคำร้องนั้น ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย ส่วนเงินหรือประกันที่วางไว้ต่อศาลดังกล่าวเมื่อศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อไป จะสั่งคืนหรือยกเลิกประกันนั้นก็ได้ คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด
               ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องที่ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวเห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิ่งให้ชักช้า บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้อง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร ถ้าผู้ยื่นคำร้องนั้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล บุคคลที่ได้รับความเสียหายอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่ผู้ยื่นคำร้องนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา

               ฎีกาที่ ๑๐๗๓๑/๒๕๕๘(ประชุมใหญ่) ระยะเวลาการบังคับคดีภายในสิบปีตาม มาตรา ๒๗๑(เดิม) ในกรณีนี้ ต้องเริ่มนับแต่วันมีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น
               ฎีกาที่ ๗๑๙๐/๒๕๓๘ กรณีที่มีการฎีกา ระยะเวลาการบังคับคดีก็ต้องเริ่มนับจากวันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา