ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องได้เฉพาะก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเท่านั้น จะขอถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วไม่ได้ หากมีการตกลงกันได้ระหว่างคู่ความ ก็ชอบที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในชั้นฎีกา โดยจะทำที่ศาลชั้นต้นหรือศาลฎีกาก็ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๖ และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงไม่ชอบ

               ตามฎีกานี้ มีเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๖ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
               มาตรา ๑๗๕ ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ โจทก์อาจถอนคำฟ้องได้โดยยื่นคำบอกกล่าวเป็น หนังสือต่อศาลภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล ชั้นต้น เพื่ออนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายใน เงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่
               (๑) ห้ามไม่ให้ศาลให้อนุญาต โดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมี ก่อน
               (๒) ในกรณีที่โจทก์ถอนคำฟ้อง เนื่องจากมีข้อตกลงหรือประนีประนอมยอมความกับ จำเลย ให้ศาลอนุญาตไปตามคำขอนั้น
               มาตรา ๑๗๖ การทิ้งคำฟ้องหรือถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้ง กระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะ เดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย แต่ว่าคำฟ้องใด ๆ ที่ได้ทิ้งหรือถอนแล้ว อาจยื่นใหม่ได้ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๑๙/๒๕๕๖ ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๕ ไม่ได้บัญญัติว่าต้องอ้างเหตุผลของการขอถอนฟ้องมาด้วย แม้จะอ้างเหตุผลมาและฟังไม่ได้ ก็ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะศาลมีอำนาจพิจารณาเหตุผลต่าง ๆ ในสำนวนประกอบคำคัดค้านได้
               ฎีกาที่ ๕๖๒๓/๒๕๔๘ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้จำเลยจะยื่นฎีกา แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมผูกพันคู่ความอยู่จนกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง ดังนี้ต้องถือว่าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ชอบที่จะถอนฟ้องได้ และศาลชั้นต้นชอบที่จะมีอำนาจสั่ง เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องโดยจำเลยไม่คัดค้านแล้ว ซึ่งการถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องรวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีต่อมาภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้องเลยตามมาตรา ๑๗๖ ดังนั้น ฎีกาของจำเลยจึงต้องถูกลบล้างไปด้วยผลของการถอนฟ้อง ศาลฎีกาสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ