การพิจารณาว่าคู่สัญญาได้แสดงเจตนาลวงทำนิติกรรมขึ้นเพื่อเป็นการอำพรางนิติกรรม อื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕ วรรคสอง หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีและนิติกรรมที่คู่สัญญาทำขึ้นโดยเปิดเผยเพื่อแสดงต่อบุคคลทั่วไปเป็นสำคัญ โดยหาจำต้องพิจารณาว่าคู่สัญญามีการทำนิติกรรมที่แสดงเจตนาที่แท้จริงไว้ต่อกันอีกฉบับหนึ่งไม่ เพราะหากมีการทำนิติกรรมที่แสดงเจตนาที่แท้จริงไว้แล้ว ก็จะไม่มีปัญหาให้พิจารณาเรื่องนิติกรรมอำพราง เพราะคู่สัญญาสามารถนำนิติกรรมที่ทำไว้ต่างหากและเป็นการแสดงเจตนาที่แท้จริงมาฟ้องร้องบังคับคดีกันได้โดยตรง
               โจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้น มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง สัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕ วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยให้ที่ดินแก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน และถือได้ว่าสัญญาขายที่ดินเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์กับจำเลยและถูกอำพรางไว้ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕ วรรคสอง เมื่อสัญญาขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะ จึงต้องเพิกถอนเป็นผลให้ที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลย

                    ตามฎีกานี้ วันที่ในสัญญาจะซื้อจะขายคืนเป็นวันเดียวกับวันที่โอนกรรมสิทธิ์ ในราคารวมที่ดินทั้งสองแปลงเป็นเงิน ๒,๔๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเท่ากับเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยซึ่งเป็นราคาที่ให้ซื้อคืน จึงเจือสมกับพยานหลักฐานจำเลยที่ว่าการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงเป็นเพียงหลักประกันการกู้ยืมเงินไม่มีการซื้อขายกันจริง ประกอบกับนับตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงและบ้าน โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาท คงให้จำเลยและบริวารอาศัยและประกอบกิจการร้านค้าอยู่ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตลอดมา  

เพิ่มเติม
               นิติกรรมที่ถูกอำพรางจะต้องเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ คือมีองค์ประกอบครบถ้วน และองค์ประกอบแต่ละข้อจะต้องไม่บกพร่องด้วย นิติกรรมที่ถูกอำพรางจะมีผลใช้บังคับก็ต่อเมื่อได้ทำตามแบบ แต่แนวคำพิพากษาศาลฎีกาในปัจจุบัน พยายามช่วยให้นิติกรรมที่ถูกอำพรางมีผลบังคับใช้ได้โดยอาศัยหลักโมฆะแปลงรูปเข้ามา รวมทั้งการอนุโลมเอาแบบของนิติกรรมที่ถูกเปิดเผยมาใช้ ดูฎีกาที่ ๖๓๔๒/๒๕๕๒ และ ๑๘๗๑/๒๕๔๙
               ฎีกาที่ ๖๓๔๒/๒๕๕๒ ท. มีเจตนายกที่ดินให้แก่จำเลยแต่จดทะเบียนนิติกรรมเป็นการขาย ถือได้ว่าการจดทะเบียนนิติกรรมขายที่ดินเป็นการอำพรางนิติกรรมให้ นิติกรรมขายที่ดินย่อมเป็นการแสดงเจตนาด้วย สมรู้กันระหว่างคู่กรณี ย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๕๕ วรรคหนึ่ง ส่วนนิติกรรมให้ต้องบังคับบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกอ่าพรางตามมาตรา ๑๕๕ วรรคสอง การที่ ท. จดทะเบียนนิติกรรมขายมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน คือที่ดินเช่นเดียวกับนิติกรรมให้ต่างกันเพียงว่ามีค่าตอบแทนแก่กันหรือไม่เท่านั้น ย่อมถือได้ว่าการจดทะเบียนขายดังกล่าวเป็นการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนสำหรับการให้ที่ถูกอำพรางด้วยโดยอนุโลมนิติกรรมการให้ที่ดินระหว่าง ท. และจำเลย จึงไม่เป็นโมฆะและมีผลบังคับตามมาตรา ๑๕๕ วรรคสอง
               ฎีกาที่ ๑๘๗๑/๒๕๔๙ การที่นิติกรรมอันหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่ง นิติกรรมอันแรกคือบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มีค่าตอบแทน) ย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วย สมรู้กันระหว่างคู่กรณี นิติกรรมดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๕ วรรคแรก ส่วนนิติกรรมที่ถูกอำพรางคือสัญญาให้ต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูก อาพราง ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๕ วรรคสอง การที่ ผ. จดทะเบียนข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มีค่าตอบแทน) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นเดียว กับนิติกรรมให้ ย่อมถือได้ว่าการจดทะเบียนข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าวเป็นการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนสำหรับนิติกรรมการให้ที่ถูกอำพรางด้วย นิติกรรมการ ยกที่ดินให้ระหว่าง ผ. กับจำเลยจึงไม่เป็นโมฆะ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๕๕ การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้
               ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ

อ้างอิง
ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์. คำอธิบายนิติกรรม-สัญญา. พิมพ์ครั้งที่ 22. กรงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2561.