จำเลยที่ ๑ รับจ้างบริษัท ม. ขนส่งสินค้าจากโรงงานของบริษัท
ท. ในประเทศสหราชอาณาจักร ทางรถบรรทุกไปยังท่าอากาศยานฮีทโธรว์ ในกรุงลอนดอน
ประเทศสหราชอาณาจักร เพื่อขนส่งทางเครื่องบินมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในประเทศไทย
ย่อมเป็นการรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งทางรถบรรทุกหรือทางบกกับการขนส่งทางเครื่องบินหรือทางอากาศ
อันเป็นรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันสองรูปแบบในสัญญาขนส่งเดียวกันจากสถานที่รับมอบของในประเทศสหราชอาณาจักร
มาส่งมอบของยังสถานที่อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
ตามบทนิยามมาตรา ๔ คำว่า “การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ”
แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘ ดังนี้ การใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายตามสัญญาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของบริษัท
ม. จำกัด ต่อจำเลยที่ ๑ จึงมีอายุความ ๙ เดือน นับแต่วันที่จำเลยที่ ๑
ในฐานะถือว่าเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง ได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของ
ตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.๒๕๔๘ มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลย
ที่ ๑ ขนส่งสินค้ามาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
วันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยที่ ๑ ควรจะส่งมอบสินค้า เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่
๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ย่อมเกินกว่า ๙ เดือน สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์ต่อจำเลยที่ ๑
จึงขาดอายุความ
จำเลยที่ ๑
ขนส่งสินค้ามาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๒
ให้ขนถ่ายสินค้าลงจากเครื่องบินและนำไปเก็บไว้ ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ ๒ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในระหว่างรอการดำเนินพิธีการศุลกากรและส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท
ฟ. ตัวแทน ของผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ ๒ จึงเป็นบุคคลอื่นซึ่งจำเลยที่ ๑
ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ใช้บริการเพื่อการปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างจำเลยที่
๑ กับบริษัท ม. ซึ่งการใช้ สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายตามสัญญาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของบริษัท
ม. ต่อจำเลยที่ ๒ มีอายุความ ๙ เดือน นับแต่วันที่จำเลยที่ ๑
ในฐานะถือว่าเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของ
ตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา
๓๗ เช่นเดียวกัน แม้จำเลยที่ ๒ จะไม่ได้ยกอายุความพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่หากความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่
๒ จำเลยที่ ๑ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ด้วย ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา ๒๕
โดยเป็นการรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๑ การที่จำเลยที่
๑ ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยที่ ๒
ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้ของจำเลยที่ ๑ มีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ ๒
ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมยกอายุความขึ้นต่อสู้ด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและทางการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๙ (๑)
คดีย่อมมีประเด็นว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ขาดอายุความ
๙ เดือน ตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.๒๕๔๘ มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง
หรือไม่ด้วย เมื่อสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ ๑
ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา
๕๙ (๑) บัญญัติว่า “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปอาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม
ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน
เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ดั่งนั้นโดยชัดแจ้ง
ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าว ต่อไปนี้
(๑) บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้น ให้ถือว่าได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนอื่น
ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น
ๆ” ตามบทกฎหมายนี้หมายความว่า ในกรณี ที่ลูกหนี้ร่วมหลายคนซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยร่วมให้ชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้
การที่ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งยกอายุความขึ้นต่อสู้จะมีผลเท่ากับว่าลูกหนี้ร่วมคนอื่นยกอายุความขึ้นต่อสู้ด้วย
พระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
พ.ศ.๒๕๔๘
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ”
หมายความว่า
การรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไปภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบฉบับเดียว
โดยขนส่งจากสถานที่ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบของในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานที่ส่งมอบของในอีกประเทศหนึ่ง
การดำเนินการรับหรือส่งมอบของตามที่ระบุไว้ในสัญญาขนส่งรูปแบบเดียวไม่ถือว่าเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
มาตรา ๒๕ ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต้องรับผิดเพื่อความเสียหายในการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของลูกจ้างและตัวแทนของตน
และของบุคคลอื่นซึ่งตนได้ใช้บริการเพื่อการปฏิบัติตามสัญญารวมถึงลูกจ้างและตัวแทนของบุคคลอื่นนั้น
ซึ่งได้กระทำไปในทางการที่จ้างหรือภายในขอบอำนาจแห่งการเป็นตัวแทนหรือในกิจการที่ได้ใช้บริการนั้น
มาตรา ๓๗
ความในหมวดนี้ให้ใช้บังคับแก่การใช้สิทธิเรียกร้องต่อผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไม่ว่าการเรียกร้องนั้นจะมีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือละเมิด
และให้ใช้บังคับตลอดถึงการที่ใช้สิทธิเรียกร้องต่อลูกจ้าง ตัวแทน
หรือบุคคลอื่นที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ใช้บริการในการปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
มาตรา ๓๘ สิทธิเรียกร้องใด ๆ
อันเกิดจากการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบไม่ว่าจะมีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือละเมิด
ถ้ามิได้ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการตามความในหมวด ๓
เพื่อชี้ขาดภายในเก้าเดือนนับแต่วันที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของ
หรือควรจะส่งมอบของ ให้เป็นอันขาดอายุความ
ภายในอายุความตามวรรคหนึ่ง
ถ้าฝ่ายที่ถูกเรียกร้องยินยอมโดยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ถูกเรียกร้องว่าจะไม่ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในกรณีที่ฝ่ายที่มีสิทธิเรียกร้องฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อ
พิพาทให้อนุญาโตตุลาการ ความยินยอมนี้ให้ใช้บังคับได้ แต่ทั้งนี้
จะต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของ
ในกรณีฝ่ายที่ถูกเรียกร้องยินยอมขยายระยะเวลาในการใช้สิทธิเรียกร้องให้แก่ฝ่ายที่มีสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ถูกเรียกร้อง
ให้ถือว่าเป็นการให้ความยินยอมว่าจะไม่ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้และให้มีผลเช่นเดียวกับกรณีตามวรรคสอง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๓๐๑
ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้
ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน
0 Comments
แสดงความคิดเห็น