คำพิพากษาตามยอมกำหนดให้โจทก์ต้องบังคับคดีโดยการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยทั้งสองก่อน
หากไม่ครบจำนวนหนี้ จึงจะบังคับคดีจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสอง ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด
หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงจะมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ขายได้สุทธิมาชำระหนี้ที่ยังค้างชำระได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม
ดังนี้ แม้โจทก์จะกล่าวอ้างข้อเท็จจริงตามคำร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่
๑๕๓๘๑๒ และ ๑๕๓๘๑๓ ของจำเลยที่ ๑ ว่า ยอดหนี้ที่จำเลยทั้งสองค้างชำระหนี้โจทก์คำนวณถึงวันยื่นคำร้องเป็นเงิน
๑,๖๔๗,๖๒๐.๕๐ บาท ในขณะที่ทรัพย์จำนองมีราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีเพียง
๖๓๑,๐๐๐ บาท อยู่ระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดมา
แต่ก็ยังขายไม่ได้ และอาจจะขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินทำให้โจทก์ไม่สามารถได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้โดยสิ้นเชิงก็ตาม
แต่เมื่อทรัพย์จำนองยังไม่ได้มีการขายทอดตลาดโดยมิได้เป็นความผิดของจำเลยทั้งสอง
โจทก์ก็ยังไม่อาจ ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่
๑ ดังกล่าวได้ เนื่องจากขัดต่อขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมที่โจทก์และจำเลยตกลงกันโดยสมัครใจ
ย่อมต้องบังคับต่อกันได้โดยความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาและชอบด้วยกฎหมายสารบัญญัติ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๙ ซึ่งกฎหมายวิธีสบัญญัติคือ ป.วิ.พ. มาตรา ๑๓๘ ก็ให้ศาลพิพากษาไปตามข้อตกลงนั้นได้บัญญัติรับรองไว้ดังนี้
การบังคับคดีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๗๑ (เดิม) ซึ่งเป็นบทมาตราหลักคือ
ต้องบังคับคดีตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษา จึงชอบที่ศาลจึงวินิจฉัยให้การบังคับคดีเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอม
ซึ่งผูกพันคู่ความตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้
ตามฎีกานี้
ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๙
ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองผิดนัด
ต่อมาวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๒ โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษา
วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๒ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่
๘๐๘๒๙ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีชื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เจ้าพนักงานบังคับคดี
ประเมินราคาเป็นเงิน ๖๓๑,๐๐ บาท
และประกาศขายทอดตลาดในนัดแรกเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๕ ต่อมาวันที่ ๓๐ มิถุนายน
๒๕๕๗ ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม
๒๕๕๙ ผู้ร้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ขอให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินคือ
ที่ดินโฉนด เลขที่ ๑๕๓๘๑๒ และ ๑๕๓๘๑๓ ของจำเลยที่ ๑ เพิ่มเติมเพื่อนำมาขายทอดตลาด
แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งยกคำร้อง
เพิ่มเติม
- มาตรา ๒๗๑ เดิม ปัจจุบัน คือ
มาตรา ๒๗๔
ฎีกาที่ ๑๕๘๐/๒๕๕๑ คำขอท้ายฟ้องระบุว่า
ถ้าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์แสดงว่าโจทก์ฟ้องบังคับจำนองโดยประสงค์
จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์ที่จำนองเท่านั้น มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนี้สามัญ
สัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวไม่มีข้อความว่า หากโจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้โจทก์ก็ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ด้วย
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนอง โจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา
โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้อีก ตาม ป.พ.พ.
มาตรา ๗๓๓
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๒๗๔
ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ชำระหนี้
(ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)
มิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน
คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้
(เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน
อายัดสิทธิเรียกร้องหรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นตามบทบัญญัติแห่งภาคนี้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
และถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สิน
หรืออายัดสิทธิเรียกร้องใดไว้หรือได้ดำเนินการบังคับคดีโดยวิธีอื่นไว้บางส่วนแล้วภายใน
ระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้อง
หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จได้
0 Comments
แสดงความคิดเห็น