ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายที่
๒ ในฐานะบิดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโจทก์ร่วม ความปกครองของผู้เสียหายที่ ๒
ที่มีต่อโจทก์ร่วมย่อมถูกกระทบกระเทือนทำนองเดียวกับเสรีภาพของผู้เสียหายที่ ๒
ที่ได้รับความเสียหาย ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายที่ ๒
ในความผิดฐานนี้ได้ แม้ผู้เสียหายที่ ๒ ซึ่งยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๔๔/๑ ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาเรียกค่าสินไหมทดแทน แต่เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
ซึ่งในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ ศาลฎีกาชอบที่จะกำหนดค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายที่
๒ ได้รับจากการกระทำความผิดของจำเลยได้ กรณีไม่อาจนำกฎหมายวิธีสบัญญัติเรื่องอุทธรณ์ฎีกามาตัดสิทธิของผู้เสียหายที่
๒ ทั้งปัญหาตามมาตรา ๔๔/๑ เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามมาตรา ๑๙๕
วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕
มาตรา ๔๔/๑ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญามีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีอาญาเพื่อให้ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยไม่ต้องไปยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งอีกคดีหนึ่ง
คำร้องดังกล่าวคงมีเฉพาะผู้เสียหายที่ ๒ ระบุจำนวนค่าสินไหมทดแทนเรียกร้องเท่านั้นซึ่งถือเป็นคำบังคับ
ส่วนสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาต้องอาศัยข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของพนักงานอัยการเป็นหลัก
หากคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ศาลพิพากษายกฟ้อง แม้ผู้เสียหายที่ ๒
จะยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา ๔๔/๑ ผู้เสียหายที่ ๒
ก็จะไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน แต่หากศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องของพนักงานอัยการก็จะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมาตรา ๔๔/๑ มีความหมายทำนองเดียวกับมาตรา
๔๓ เมื่อพนักงานอัยการฟ้องจำเลยก็มีสิทธิ เรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหาย
และหากศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์โดยไม่คำนึงว่าพนักงานอัยการจะอุทธรณ์ฎีกาคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายหรือไม่
ดังนั้น จึงไม่อาจนำกฎหมายวิธีสบัญญัติเรื่องอุทธรณ์ฎีกามาตัดสิทธิของผู้เสียหายที่
๒ ได้
ตามฎีกานี้
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด... คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และโจทก์ฎีกา ซึ่งผู้เสียหายที่ ๒ ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น
และไม่ได้ฎีกา
0 Comments
แสดงความคิดเห็น