จำเลยขับรถแซงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายทั้งสองบริเวณถนนซึ่งใกล้ทางโค้ง
จึงได้เปลี่ยนช่องทางเดินรถกะทันหันลักษณะปาดหน้าเข้าไปในช่องทางเดินรถของผู้เสียหายทั้งสอง
ทำให้ผู้เสียหายที่
๑ ต้องหักหลบตามสัญชาตญาณและเสียหลักพุ่งเข้าชนเสากำแพงปูนข้างทางจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่
๑ ได้รับอันตรายสาหัสและผู้เสียหายที่ ๒ ได้รับอันตรายแก่กาย
อันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย การกระทำของจำเลย
จึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้น
จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้
แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จำเลยย่อมมีความผิดฐานขับรถโดยประมาท
หรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก
พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔) ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสและเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายตาม
ป.อ. มาตรา ๓๐๐ และ ๓๙๐ แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว
ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยได้เพราะการแตกต่างระหว่างการกระทำโดยเจตนากับประมาทนั้น
กฎหมายมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคสาม
ความผิดฐานไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีนั้น
เมื่อจำเลยขับรถเปลี่ยนช่องทางเดินรถเข้ามาในช่องทางเดินรถของผู้เสียหายทั้งสองอย่างกะทันหันในลักษณะปาดหน้า
จนผู้เสียหายที่ ๑ ต้องหักหลบแล้วเกิดอุบัติเหตุทำให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับบาดเจ็บนั้น
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน ซึ่งบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากเสาไฟฟ้าสาธารณะมองเห็นได้ชัดเจน
จึงเชื่อว่าจำเลยรู้ และเห็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น การที่จำเลยขับรถหลบหนีออกไปจากที่เกิดเหตุ
โดยไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือ
และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที
รถกระบะของกลางเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยใช้เดินทางไปยังที่เกิดเหตุ
ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงตาม ป.อ. มาตรา ๓๓ (๑)
จึงไม่อาจริบได้
ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายกคำร้อง แม้ผู้ร้องทั้งสองจะไม่ได้ฎีกาแต่คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
ตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๔๖ เมื่อผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้อง ตาม
ป.วิ.อ. มาตรา ๔๔/๑ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลของคดีอาญาได้
เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้ร้องที่ ๑ ได้รับอันตรายสาหัส และผู้ร้องที่
๒ ได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลย จึงเป็นการละเมิดและจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งสอง
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๓, ๘๐, ๙๑, ๒๘๘ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๔๓, ๗๘, ๑๕๗,
๑๖๐ และริบรถกระบะของกลาง
พระราชบัญญัติจราจรทางบก
มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๓
ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ
(๔) โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
มาตรา ๗๘ ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม
ต้องหยุดรถ หรือสัตว์ และให้ความช่วยเหลือตามสมควร
และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อตำรวจที่ใกล้เคียงทันที
กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล
และที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย
ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หลบหนีไปหรือไม่แสดงตัวต่อตำรวจ ณ
สถานที่เกิดเหตุ ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำความผิดและให้ตำรวจที่มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนีหรือไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่
จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือได้ตัวผู้ขับขี่ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่แสดงตัวต่อตำรวจ
ภายในหกเดือนนับแต่วันเกิดเหตุ ให้ถือว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิด
และให้ตกเป็นของรัฐ
0 Comments
แสดงความคิดเห็น