คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๘๖๖/๒๕๖๐(ประชุมใหญ่)
แม้ในคดีอาญาพนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงเกินสมควรจนไม่สามารถหยุดหรือชะลอความเร็วของรถให้ช้าลงพอที่จะขับหลบหลีกไม่ให้ชนรถคันอื่นที่จอดขวางอยู่ข้างหน้าได้ทัน ผู้ตายหาได้ใช้ความระมัดระวังในการขับรถให้เพียงพอไม่ เป็นเหตุให้รถชนท้ายรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ จอดอยู่ก็ตาม แต่เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายไปก่อนไม่ถูกพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา ข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุพการีของผู้ตายย่อมเข้าจัดการแทนผู้เสียหายได้ตามมาตรา ๕ (๒) การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นคดีอาญาฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีแทนโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุพการีของผู้ตายด้วย คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๑ ในอันที่จะต้องใช้อายุความในทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับแก่คดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ วรรคสอง
แม้ในคดีอาญาพนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงเกินสมควรจนไม่สามารถหยุดหรือชะลอความเร็วของรถให้ช้าลงพอที่จะขับหลบหลีกไม่ให้ชนรถคันอื่นที่จอดขวางอยู่ข้างหน้าได้ทัน ผู้ตายหาได้ใช้ความระมัดระวังในการขับรถให้เพียงพอไม่ เป็นเหตุให้รถชนท้ายรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ จอดอยู่ก็ตาม แต่เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายไปก่อนไม่ถูกพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา ข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุพการีของผู้ตายย่อมเข้าจัดการแทนผู้เสียหายได้ตามมาตรา ๕ (๒) การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นคดีอาญาฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีแทนโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุพการีของผู้ตายด้วย คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๑ ในอันที่จะต้องใช้อายุความในทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับแก่คดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ วรรคสอง
คดีอาญามีการฟ้องคดีและศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่
๑ จนคดีเสร็จเด็ดขาดแล้วก่อนที่โจทก์ทั้งสองได้มาฟ้องคดีนี้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๕๑ วรรคสาม บัญญัติให้มีกำหนดอายุความในมาตรา ๑๙๓/๓ ๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติให้มีกำหนด ๑๐ ปี ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด
เมื่อเหตุเกิดวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๔ และโจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องวันที่ ๒๗ มีนาคม
๒๕๕๖ คดีโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ ๑ ไม่ขาดอายุความ
การเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา
ซึ่งให้นับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘
วรรคสอง หมายความเฉพาะ การเรียกร้องจากตัวผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมกระทำผิดเป็นการเฉพาะ
มิได้หมายถึงผู้อื่นที่ไม่ได้ร่วมในการกระทำความผิดด้วย การเรียกร้องค่าเสียหายเอาแก่จำเลยที่
๒ ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงต้องใช้อายุความ ๑ ปี นับแต่รู้ตัวผู้จะพึ่งต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง
เมื่อโจทก์ทั้งสองทราบว่าจำเลยที่ ๒ เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ วันที่ ๒๔ ตุลาคม
๒๕๕๔ และนำคดีมาฟ้องวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๖ เกินกำหนด ๑ ปี คดีโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่
๒ ขาดอายุความ
แม้ฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนของจำเลยที่
๒ ซึ่งเป็นนายจ้าง และผู้เอาประกันภัยขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๔๔๘ วรรคสอง ก็ตาม แต่หาใช่เหตุทำให้หนีระงับไปไม่ ทั้งจำเลยที่ ๑
ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ขับรถไปในทางการที่จ้างย่อมถือเสมือนว่าเป็นผู้เอาประกันภัยเองตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัย
จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑
ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญา ประกันวินาศภัยแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ ๓
เป็นเพียงผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งมีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้น
ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม
เมื่อกรมธรรม์เพียงแต่กำหนดวงเงิน ความเสียหายที่จำเลยที่ ๓
จะต้องรับผิดโดยมิได้ระบุให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้ทำละเมิด จำเลยที่
๓ จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิด ประกอบกับหนี้หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน
และไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ทวงถามให้จำเลยที่ ๓ ชำระหนี้ กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่
๓ ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้มาก่อนที่โจทก์ทั้งสองจะนำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ ๓
ต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๔๔๘ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น
ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึ่งต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด
แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา
และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้
ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๕๑
ถ้าไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญา
สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมระงับไปตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญา
แม้ถึงว่าผู้เยาว์หรือผู้วิกลจริตในมาตรา ๑๙๓/๒๐
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะเป็นผู้ฟ้องหรือได้ฟ้องต่างหากจากคดีอาญาก็ตาม
ถ้าคดีอาญาใดได้ฟ้องต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลด้วยแล้ว
แต่คดียังไม่เด็ดขาด
อายุความซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตามมาตรา ๙๕
แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ถ้าโจทก์ได้ฟ้องคดีอาญาและศาลพิพากษาลงโทษจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ฟ้องคดีแพ่ง
สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีตามกำหนดอายุความในมาตรา ๑๙๓/๓๒
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ถ้าโจทก์ฟ้องคดีอาญาและศาลพิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง
สิทธิของผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
0 Comments
แสดงความคิดเห็น