ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงาน อัยการเป็นโจทก์มิใช่เป็นคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่ผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิจารณาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญา ตามมาตรา ๔๖ สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา
               การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ หรือไม่ ต้องพิจารณาสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของ คำว่าผู้เสียหายในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) เช่นเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมาบังคับใช้
               ผู้เสียหายที่ ๑ ใช้ไม้ตีจำเลยบริเวณท้ายทอยแล้วผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ ๒ เข้าไปช่วยเหลือผู้เสียหายที่ ๑ โดยเข้าห้ามมิให้จำเลยใช้มีดฟันแทงผู้เสียหายที่ ๑ ขณะผู้ร้องเข้าแย่งและปัดมีดจากมือจำเลย ทำให้มีดพลาดแทงถูกบริเวณท้องด้านซ้ายของผู้ร้องมีดปักคาอยู่ ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมกับผู้เสียหายที่ ๑ ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแก่จำเลยด้วยการใช้ไม้ที่จำเลยที่บริเวณท้ายทอย ผู้ร้องจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยมีสิทธิ เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ โดยในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๒ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง

               ตามฎีกานี้ ในส่วนคดีแพ่งจำเลยวางเงินต่อศาลเพื่อบรรเทาผลร้ายให้แก่ผู้เสียหายที่ ๑ จำนวน ๕,๐๐๐ บาทและผู้ร้องคือผู้เสียหายที่ ๒ จำวน ๕๐,๐๐๐ บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่ผู้ร้อง จำนวน ๑๔๗,๖๖๑ บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนแพ่ง จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในคดีส่วนแพ่งที่ว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๔๖ ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา