โจทก์ฟ้องเรียกถอนคืนการให้ที่ดินสามโฉนดจากจำเลยซึ่งเป็นบุตร จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยมิได้ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ และที่ดินโฉนดหนึ่งไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นทรัพย์มรดกของจำเลย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นคดีมีทุนทรัพย์ และต้องแยกพิจารณาที่ดินแต่ละแปลงออกต่างหากจากกันว่าโจทก์ฟ้องเรียกถอนคืนการให้ที่ดินแต่ละแปลงเพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณได้หรือไม่ ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้น อุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง จึงต้องแยกคำนวณตามราคาที่ดินพิพาทแต่ละแปลง หาใช่คำนวณรวมกัน
               โจทก์ฟ้องเรียกถอนคืนการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๘๓๔ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๖๓ ตารางวา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์คืนให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเนื้อที่ ๓ งาน ๖๓ ตารางวา ไม่เต็มตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงฝ่ายเดียว ทุนทรัพย์ที่พิพาทชั้นอุทธรณ์ในส่วนของที่ดินเท่ากับเนื้อที่ ๓ งาน ๖๓ ตารางวา เมื่อที่ดินทั้งแปลงมีราคาประเมิน ๗๒,๙๐๐ บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของที่ดิน เท่ากับ ๓๔,๖๔๒.๔๓ บาท ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ทั้งคดีนี้เป็นคดีเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยผู้รับประพฤติเนรคุณ มิใช่เป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว จึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง
               จำเลยด่าโจทก์ว่า “ไอ้แก่หัวหงอก กูไม่นับถือมึง มึงไปตายไหนก็ไป ออกไปให้พ้น มึงอยู่ที่ไหนได้ก็ไป”  เป็นถ้อยคำหยาบคาย ไม่สุภาพ แสดงถึงการไม่ให้ความเคารพโจทก์ อันเป็นการไม่สมควรที่บุตรจะกล่าวต่อบิดาเช่นนั้น ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๓๗๒๘๘ และเลขที่ ๕๕๔๔๒ จากจำเลย เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้
              
               ตามฎีกานี้ การให้บางกรณีไม่อาจเรียกคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณได้ จึงต้องแยกคำนวณตามราคาที่ดินพิพาทแต่ละแปลง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๕๓๑ อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้
               (๒) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
               มาตรา ๑๕๐ ในคดีที่คำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์นั้นอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือราคาทรัพย์สินที่พิพาท
               มาตรา ๒๒๔  ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาชั้นต้นหรืออธิบดีผู้ พิพากษาภาคผู้มีอำนาจ แล้วแต่กรณี
               บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิได้ให้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวและคดี ฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจาก อสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
               การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้อง พร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง