คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๕/๒๕๖๒ 
               จำเลยที่ ๑ ตัดสินใจวิ่งกลับไปเอาเหล็กขูดชาฟท์มาแทงผู้เสียหายในฉับพลันทันที อันเกิดจากการตัดสินใจของจำเลยที่ ๑ โดยลำพังขณะที่จำเลยที่ ๒ มิได้ใช้มีดพกมาฟันผู้เสียหายอันจะเป็นการแสดงว่ามีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในลักษณะเข้ารุมทำร้ายผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ ๒ เพียงแต่ใช้อาวุธมีดแกว่งมิให้บุคคลอื่นเข้าช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยไม่ได้เข้าร่วมทำร้ายผู้เสียหายเอง ถือไม่ได้ว่ามีเจตนาเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ ๑ ขณะกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
               แม้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ทราบว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ พาอาวุธมีดไปยังที่เกิดเหตุ แต่ขณะที่จำเลยทั้งสี่รุมชกต่อยผู้เสียหาย จำเลยที่ ๑ ไม่ได้หยิบเหล็กขูดชาฟท์ติดตัวไปตั้งแต่ครั้งแรก แต่ตัดสินใจวิ่งกลับไปที่รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ ๑ แล้วนำเหล็กขูดชาฟท์ที่วางอยู่บนตะแกรงหน้ารถมาแทงผู้เสียหายเป็นการกระทำของจำเลยที่ ๑ ตามลำพัง ทั้งจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ได้กระทำการอย่างใดอันจะมีพฤติการณ์แสดงว่ามีเจตนาร่วมกระทำความผิดหรือช่วยเหลือจำเลยที่ ๑ ลำพังจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมรู้เห็นว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นำอาวุธมีดติดตัวมายังที่เกิดเหตุด้วย ยังไม่เพียงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ในความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ ๑ พยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่ฟังได้ว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในการทำร้ายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัส แม้จะมิได้เกิดจากที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ชกต่อยแต่ก็เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ก็ต้องรับในผลแห่งการกระทำ ดังกล่าว จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗
               ฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๘๐ แต่ความผิดดังกล่าวรวมความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ อยู่ด้วย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคท้าย ประกอบมาตรา ๒๑๕, ๒๒๕

               ตามฎีกาโจทก์และจำเลยที่ ๒ ว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๖๐๑๑/๒๕๖๐ จำเลยกับพวกมีเจตนาที่จะทำร้ายร่างกายผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้นแล้ว แม้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายจะทำร้ายจำเลยหรือใช้อาวุธมีคมแทงพวกของจำเลยก่อน จำเลยจึงชกผู้เสียหาย ส่วนพวกของจำเลยได้ใช้มีดดาบฟันผู้เสียหายก็มิใช่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีทันใด เมื่อพวกของจำเลยมีมีดดาบติดตัวไปด้วยย่อมทำให้จำเลยคาดหมายได้ว่าพวกของจำเลยอาจใช้มีดดาบฟันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายได้ ถือว่าจำเลยมีเจตนาที่จะมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับพวกของจำเลยแล้ว การที่พวกของจำเลยใช้มีดดาบฟันผู้เสียหายในเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดกับหลังจากที่จำเลยชกผู้เสียหาย ซึ่งขณะนั้นจำเลยก็อยู่ในบริเวณใกล้เคียงในลักษณะที่พร้อมจะช่วยเหลือพวกของจำเลยได้ทันท่วงทีหากมีเหตุให้ต้องช่วยเหลือ แม้จำเลยมิใช่เป็นผู้ใช้มีดดาบฟันผู้เสียหาย แต่พฤติการณ์เช่นว่านี้แสดงว่าจำเลยมีความประสงค์ต่อความตายของผู้เสียหายด้วย ถือได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
               ข้อเท็จจริง
               จำเลยขับรถจักรยานยนต์โดยมีพวกอีก ๒ คน นั่งซ้อนท้ายไปยังที่เกิดเหตุแล้วจดรถจักรยานยนต์ เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยได้ชกบริเวณใบหน้าของผู้เสียหาย จากนั้นพวกของจำเลยใช้มีดดาบฟันผู้เสียหายที่บริเวณไหล่ ศีรษะ แขนและลำตัวหลายครั้งโดยเจตนาฆ่า โดยจำเลยยืนอยู่ห่างประมาณ ๒ เมตร
               แต่ตามฎีกาที่ ๓๒๕/๒๕๖๒ จำเลยที่ ๑ วิ่งไปเอาเหล็กขูดชาฟท์ที่ตะแกรงหน้ารถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ ๑ มาแทงผู้เสียหาย
ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๘๓ ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
               มาตรา ๘๖ ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น
               มาตรา ๒๙๗ ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
               อันตรายสาหัสนั้น คือ
               (๑) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
               (๒) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
               (๓) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
               (๔) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
               (๕) แท้งลูก
               (๖) จิตพิการอย่างติดตัว
               (๗) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
               (๘) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน