คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๕๔๐/๒๕๖๑ 
               ความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตาม ป.อ. มาตรา ๑๓๗ (เดิม) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์จึงต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ ๑ มายังศาลภายในกำหนด ๕ ปี นับแต่วันกระทำความผิด มิฉะนั้นเป็นอันขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา ๙๕ (๔) ซึ่งกรณีเช่นนี้ต้องถือวันกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง หาใช่วันที่โจทก์รู้เรื่องการกระทำความผิดไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องคดีมีมูลและหมายเรียกจำเลยที่ ๑ มาศาล ในวันนัดสอบคำให้การเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๙ ซึ่งเกินกว่า ๕ ปี นับแต่วันกระทำความผิดเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ ตามที่โจทก์ฟ้อง ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ในความผิดฐานดังกล่าว จึงขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา ๙๕ (๔)

- อายุความเริ่มนับแต่วันกระทำความผิด
- คดีนี้ ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง จำเลยมาศาลในวันนัดสอบคำให้การ จึงถือว่าได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลในวันดังกล่าว
               - การนับอายุความ ให้นับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓ วรรคสอง (ฎีกาที่ ๑๙๘-๑๙๙/๒๕๐๘)

ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๙๕ ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
               (๑) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
               (๒) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
               (๓) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
               (๔) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
               (๕) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
               ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน