คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๖๒/๒๕๕๘ (จำเลยหลอกลวงให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดิน ที่จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์)
               ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา ๓๔๑ ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
               โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตใช้อุบายหลอกลวงให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๐๒๗๗ และ ๓๐๓๐๑  ให้แก่จำเลยอ้างว่าจะนำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงไปดำเนินการยื่นคำร้องขอแบ่งแยกและโอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยกลับนำที่ดินทั้งสองแปลงไปโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ ค. ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติทางการสมรสกับจำเลย ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงที่ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๓๔๑ แล้ว ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘(๕) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๗๖ วรรคหนึ่ง ได้

               ตามฎีกานี้ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ความผิดฐานฉ้อโกงจะต้องได้ความว่า โดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งนั้น ผู้กระทำผิดนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม แต่เมื่อได้ความว่าโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องยังเป็นของจำเลยอยู่ ยังไม่อาจถือว่าจำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ จำเลยไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงมานั้นชอบหรือไม่
              
ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๓๔๑ ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ