คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๓๘๓/๒๕๕๒
               รถยนต์พิพาทเป็นรถที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจยึดรถยนต์พิพาทมาไว้เป็นของกลางเพื่อดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติศุลกากร ไม่ว่ารถยนต์ของกลางจะอยู่ในความครอบครองของผู้ใด การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจประจำศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมที่ไปยึดรถยนต์ของกลางจากโจทก์จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยชอบ ไม่ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ กรมตำรวจจำเลยที่ ๗ หน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์ แม้โจทก์จะรับซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริตจากพ่อค้าซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขายรถยนต์ แต่เมื่อรถยนต์พิพาทต้องถูกยึดไปดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติศุลกากรโจทก์ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง เพราะไม่ใช่เป็นกรณีที่เจ้าของที่แท้จริงติดตามเอาทรัพย์คืนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๒
               รถยนต์พิพาทเป็นรถที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร ซึ่งจะต้องถูกยึดไปดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติศุลกากร และอาจจะต้องถูกริบไปใน ที่สุด ดังนี้ แม้โจทก์จะซื้อรถยนต์พิพาทมาจากพ่อค้าซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขายรถยนต์และเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกจำเลยที่ ๖ จะจดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาทให้โจทก์แล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิครอบครองและไม่อาจได้รับกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทได้อีกต่อไป จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ใช้สอยในรถยนต์พิพาทภายหลังรถถูกยึดได้ คงเรียกได้แต่ราคา พร้อมดอกเบี้ยจากผู้ที่หลอกลวงขายรถให้เท่านั้น
               รถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ ๑ นำมาให้ตรวจสภาพรถและขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์ที่มีสภาพค่อนข้างใหม่และมีราคาสูงมิใช่รถเก่าก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกจำเลยที่ ๖ จะได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ หากได้ตรวจสอบเอกสารและสภาพรถยนต์พิพาทให้ถี่ถ้วนรอบคอบก็จะทราบถึงความแตกต่างของสภาพรถที่นำมาตรวจเพื่อขอจดทะเบียนโดยไม่ยาก และคงจะไม่รับจดทะเบียนให้แก่จำเลยที่ ๑ เป็นแน่ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๖ จดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบเอกสารและสภาพรถยนต์พิพาทให้รอบคอบ จึงเป็นการกระทำโดยความประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงแก่โจทก์เนื่องจากทำให้โจทก์ไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทที่ซื้อไว้โดยสุจริต จึงเป็นการกระทำละเมิด จำเลยที่ ๖ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นด้วย

               คำว่า “พ่อค้า” หมายถึงผู้ที่ทำการประกอบอาชีพในทางซื้อขายเป็นปกติธุระ เพียงแต่ซื้อขาย ๒-๓ ครั้ง ไม่ถือว่าเป็นพ่อค้า
               สิทธิของเจ้าของตามมาตรา ๑๓๓๖ ตกอยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๑๓๓๒ (ฎีกาที่ ๖๕๐๐/๒๕๔๐)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๓๓๒ บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

อ้างอิง
บัญญัติ สุชีวะ. คำอธิบายกฎหมายลักษณะทรัพย์. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ บริษัท กรุงสยาม พับลิชชิ่ง จำกัด, 2559.