คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๐๙๔/๒๕๖๑ 
               ป.วิ.พ. มาตรา ๒๗ วรรคแรก ได้บัญญัติถึงผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น คือคู่ความฝ่ายที่เสียหาย เนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้น หรืออีกกรณีหนึ่งคือเมื่อศาลเห็นสมควร ผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกมิได้เกี่ยวข้องเป็นคู่ความในคดี จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แต่อย่างไรก็ดีหากเป็นกรณีที่ศาลเห็นสมควร ศาลก็มีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้
               เดิมศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ หลังจากนั้นโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจนเสร็จสิ้น แล้วมีการขายที่ดินพิพาทให้แก่ ร. และ ร. ขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่ บ. และ พ. ก่อนที่จำเลยจะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการซื้อมาจาก บ. และ พ. เมื่อได้ความว่า ก่อนที่จำเลยจะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทได้โอนไปเป็นของบุคคลภายนอกแล้ว จึงเป็นการพ้นวิสัยที่จะให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมดังเช่นก่อนบังคับคดีได้ ประกอบกับในขณะนั้นศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษา กรณีจึงยังไม่แน่ชัดว่าเมื่อพิจารณาคดีใหม่แล้ว โจทก์หรือจำเลยจะเป็นฝ่ายชนะคดี หากโจทก์ยังคงเป็นฝ่ายชนะคดี กรณีก็ไม่จำเป็นที่จะต้องสั่งให้เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินและรายการจดทะเบียนในใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทตามคำร้องของจำเลยเช่นนั้นในกรณีเช่นนี้ ป.วิ.พ. มาตรา ๑๙๙ เบญจ วรรคสาม ให้อำนาจศาลชั้นต้นในอันที่จะมีคำสั่งอย่างใด ๆ ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่คู่ความหรือบุคคลภายนอก ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะหมายเรียก ร. บ. พ. และผู้ร้องให้เข้ามาในการพิจารณาคดีใหม่ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๗ (๓) การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ และมีคำสั่งให้เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินและรายการจดทะเบียนในใบแทนโฉนดที่ดินพิพาท แล้วต่อมามีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยมิได้เรียกบุคคลเหล่านั้นเข้ามาในคดี ย่อมเป็นการกระทบสิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความในคดีเป็นการไม่ชอบด้วย ปวิ.พ. มาตรา ๑๔๕ วรรคสอง ถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามมาตรา ๒๔๓ (๑) ประกอบมาตรา ๒๔๗ (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง และเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ สมควรเพิกถอนการพิจารณาดังกล่าวเสีย
               ตามฎีกานี้ ก่อนที่จำเลยจะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทได้โอนไปเป็นของบุคคลภายนอกแล้ว
               ฎีกาที่ ๑๕๖๔/๒๕๖๑ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง เมื่อมีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาได้เอง หรือคู่ความฝ่ายที่เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนได้ ส่วนระยะเวลาในการยื่นคำร้อง มาตรา ๒๗ วรรคสอง กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยื่นไม่ช้ากว่า ๘ วัน นับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือ พฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบทุกกรณีไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือหลังจากศาลพิพากษา

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
               มาตรา ๒๗ วรรคแรก ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียน และการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐาน หรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ศาลเห็นสมควร             
               มาตรา ๕๗ บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด
               (๓) ด้วยถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดี (ก) ตามคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นคำร้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย หรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี หรือ (ข) โดยคำสั่งของศาลเมื่อศาลนั้นเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ในกรณีที่กฎหมายบังคับให้บุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือศาลเห็นจำเป็นที่จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีดังกล่าว แล้วให้เรียกด้วยวิธียื่นคำร้องเพื่อให้หมายเรียกพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การ หรือใน เวลาใด ๆ ต่อมาก่อนมีคำพิพากษาโดยได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อศาลเป็นที่พอใจว่าคำร้องนั้นไม่อาจยื่นก่อนนั้นได้
               มาตรา ๑๔๕ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกา และการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี
               ถึงแม้ศาลจะได้กล่าวไว้โดยทั่วไปว่าให้ใช้คำพิพากษาบังคับแก่บุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลด้วยก็ดี คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่ที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา ๑๔๒ (๑) มาตรา ๒๔๕ และมาตรา ๓๖๖ และในข้อต่อไปนี้
               (๑) คำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล หรือคำพิพากษาสั่งให้เลิกนิติบุคคล หรือคำสั่งเรื่องล้มละลายเหล่านี้ บุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิงหรือจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกก็ได้
               (๒) คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า
               มาตรา ๑๙๙ เบญจ วรรคสาม เมื่อศาลได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามวรรคสอง คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและคำพิพากษาหรือคำสั่งอื่น ๆ ของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาในคดีเดียวกันนั้น และวิธีการบังคับคดีที่ได้ดำเนินไปแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันเพิกถอนไปในตัว และให้ศาลแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ แต่ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมดังเช่นก่อนบังคับคดีได้ หรือเมื่อศาลเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะบังคับเช่นนั้น เพื่อประโยชน์แก่คู่ความหรือบุคคลภายนอก ให้ศาลมีอำนาจสั่งอย่างใด ๆ ตามที่เห็นสมควร แล้วให้ศาลพิจารณาคดีนั้นใหม่ตั้งแต่เวลาที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โดยให้จำเลยยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร
               มาตรา ๒๔๓ ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย คือ
               (๑) เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีเหตุอันสมควร ก็ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นเสีย แล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ ในกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นอาจประกอบด้วยผู้พิพากษาอื่นนอกจากที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งมาแล้ว และคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่นี้อาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีเป็นอย่างอื่นนอกจากคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถูกยกได้