คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๓๙/๒๕๖๑ 
               ภายหลังจากจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ จำเลยที่ ๑ ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ ๒ งวด โดยยังไม่ผิดนัด จำเลยที่ ๑ นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ อันเป็นเวลาก่อนถึงกำหนดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ ๓ หนึ่งวัน แสดงว่าในขณะส่งคืนทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อ จำเลยที่ ๑ ยังหาได้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ กรณีมิใช่เรื่องที่จำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแล้วนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อ ในขณะที่ตนเองยังมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๗๓ ซึ่งบัญญัติว่า ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ด้วยการส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง อันเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญาได้ และส่งผลให้สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยจำเลยที่ ๑ มิได้ประพฤติผิดสัญญา แม้ในสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อความว่ากรณีที่เจ้าของได้รถกลับคืนมา ไม่ว่าจะด้วยเหตุที่เจ้าของเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาหรือผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาโดยการส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนเจ้าของ หากเจ้าของนำรถออกขายได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญา ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดส่วนที่ขาดก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ ๑ มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา และไม่ปรากฏว่าขณะที่สัญญาเลิกกันจำเลยที่ ๑ มีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากจำเลยที่ ๑ ได้ เมื่อจำเลยที่ ๑ ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย

 

               ตามฎีกานี้ กำหนดชำระค่าเช่าซื้อทุกวันที่ ๑๐ ของเดือน จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง ๒ งวด คืองวดประจำวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ และวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๗ ต่อมาวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๗ จำเลยที่ ๑ ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์

 

เพิ่มเติม

               นำรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์เพื่อขอโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่ผู้อื่น อันเป็นการเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อ ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาตามมาตรา ๕๗๓ ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิด ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันได้

               ฎีกาที่ ๗๐๒๔/๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑ ได้ติดต่อกับ พ. พนักงานของโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ว่าจะเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อใหม่ โดยให้ ย. เป็นผู้เช่าซื้อ และให้ ก. เป็นผู้ค้ำประกันแทนจำเลยทั้งสอง พ. จึงให้จำเลยที่ ๑ และ ย. ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเดิมและผู้เช่าซื้อใหม่ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์ให้ ย. ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อโดยไม่มีการกรอกข้อความและลงลายมือชื่อรับมอบรถยนต์ในหนังสือหลักฐานการรับมอบรถยนต์ที่ทำขึ้นโดยบริษัทโจทก์ โดย พ. พนักงานของโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นฝ่ายโอนสิทธิและผู้ส่งมอบ มีการตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทำเอกสารพนักงานฝ่ายอื่นของโจทก์อีกด้วย ทั้งในวันดังกล่าวจำเลยที่ ๑ ได้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิให้แก่โจทก์รับไปถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติในการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้วในวันดังกล่าว ฉะนั้น การที่จำเลยที่ ๑ ผู้เช่าซื้อได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อระหว่าง ย. กับโจทก์จะได้ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ สัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ก็เป็นอันเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๗๓ นับแต่วันที่จำเลยที่ ๑ ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิด ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันได้

               ฎีกาที่ ๓๒๓๘/๒๕๕๒ การที่จำเลยที่ ๑ นำรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์เพื่อขอโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่ ท. และโจทก์ได้เรียกเก็บเงินค่าเปลี่ยนสัญญา ค่าเปลี่ยนชื่อในเล่มทะเบียนโดยใช้แบบพิมพ์ของโจทก์ และจำเลยที่ ๑ ได้ชำระค่าตรวจสภาพรถ ค่าปรับล่าช้าและสั่งจ่ายเช็ครวม ๖ ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าและโจทก์ยึดรถจากผู้ครอบครองคือ ท. และเป็นการยึดรถที่จังหวัดยโสธรอันเป็นภูมิลำเนาของ ท. ซึ่งโจทก์รับในฎีกาว่ายึดรถยนต์ได้จาก ท. พฤติการณ์ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าการเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ ๑ เป็น ท. นั้น โจทก์จะไม่อนุมัติในภายหลัง สัญญาเช่าซื้อก็เป็นอันเลิกกันแล้วนับแต่วันที่จำเลยที่ ๑ ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๗๓ ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญา เมื่อสัญญาเลิกกันโดยจำเลยที่ ๑ มิได้ประพฤติผิดสัญญาและไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคา และค่าขาดประโยชน์

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๕๗๓ ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง


อ่านเพิ่มเติม ฎีกาที่ ๔๒๙๕/๒๕๖๑ http://www.dekasuksa.com/2019/05/blog-post_5.html