คำพิพากษาศาลฎีกาที่
๕๓๙๓/๒๕๖๑
คดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม
ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง ต้องแยกพิจารณาโทษแต่ละกระทงเป็นเกณฑ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม
ป.อ. มาตรา ๓๑๘ วรรคสาม, ๓๖๕ (๑) ประกอบมาตรา
๓๖๔ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี
แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ปกครอง ผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร
โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยจำคุก ๔ ปี ฐานบุกรุกเคหสถานของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย
จำคุก ๑ ปี รวมจำคุก ๕ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ ปี ๙
เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตาม
ป.อ. มาตรา ๓๑๘ วรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้
เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน
ตามศาลชั้นต้นในความผิดฐานบุกรุกเคหสถานของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ.
มาตรา ๓๖๕ (๑) ประกอบมาตรา ๓๖๔ และยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวไม่เกินห้าปี
จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา
๒๑๘ วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค
๔ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
ตามฎีกานี้ ไม่ปรากฏว่า จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา ตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๒๒๑
ฎีกาที่ ๔๘๒๗/๒๕๕๖ ขั้นตอนในการขออนุญาตฎีกาตาม
ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๑ มิได้มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะใน ป.วิ.อ. จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง
ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๘ วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕ กล่าวคือ
จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค
๔ อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงภายในกำหนดเวลายื่นฎีกา
ฎีกาที่ ๑๗๒๒/๒๕๕๖ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า
จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๗ วรรคสาม (เดิม) ลงโทษจำคุก ๒๕ ปี ศาลอุทธรณ์ภาค
๓ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๗ วรรคแรก (เดิม) ลงโทษจำคุก
๑ ปี ๘ เดือน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้จากความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี
ซึ่งไม่มีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง จึงเป็นการแก้ฐานความผิดเดิมโดยไม่ประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์
ความผิดทั้งสองวรรคเป็นความผิดในมาตราเดียวกัน
และต่างก็เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ ไม่ถือเป็นการแก้บท แม้จะแก่โทษด้วย
ก็เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน
๕ ปี คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๒๑๘
ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี
ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
0 Comments
แสดงความคิดเห็น