คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๔๖๒/๒๕๖๑ 
               จำเลยเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๔๑ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องในข้อกระทงความบรรดาที่กฎหมายบังคับหรือให้อำนาจให้เอาลงไว้ในทะเบียนเพื่อพิจารณาและลงมติในเรื่องกิจการของบริษัทจึงชอบแล้วในเบื้องต้น และที่โจทก์ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นโดยอ้างเพียงเหตุไม่เห็นด้วยกับมติไม่มีกฎหมายให้กระทำได้เพราะไม่ใช่เป็นมติที่ฝ่าฝืน บทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๙๕ ส่วนมติในครั้งนี้ จะซ้ำซ้อนกับมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นในครั้งก่อนหรือไม่อย่างไรก็ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะย่อมต้องถือเอามติครั้งล่าสุดที่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทมาใช้บังคับ ดังนี้ คำฟ้องโจทก์ที่อ้างเหตุขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น จึงไม่มีมูลและไม่มีเหตุที่จะนำวิธีคุ้มครองตามคำร้องของโจทก์มาใช้

               ตามฎีกานี้ ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยขอให้มีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยนำมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยไปใช้ในการทำนิติกรรมใดๆ และจดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๑๙๕ การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
               มาตรา ๒๕๔ ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคำขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อนพิพากษา รวมทั้งจำนวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลย
               (๒) ให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือการผิดสัญญา หรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคำสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลยหรือมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยโอน ขาย ยักย้ายหรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลย หรือมีคำสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าหรือการบุบสลาย ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
               (๓) ให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระงับการจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือการเพิกถอนการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยหรือที่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกฟ้องร้องไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาล จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
               (๔) ให้จับกุมและกักขังจำเลยไว้ชั่วคราว
               ในระหว่างระยะเวลานับแต่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือชี้ขาด อุทธรณ์ไปจนถึงเวลาที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสำนวนความที่อุทธรณ์หรือฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี คำขอตามมาตรานี้ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะสั่งอนุญาตหรือยกคำขอเช่นว่านี้
               มาตรา ๒๕๕ ในการพิจารณาอนุญาตตามคำขอที่ยื่นไว้ตามมาตรา ๒๕๔ ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า คำฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
               (๑) ในกรณีที่ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๒๕๔(๑) ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า
               (ก) จำเลยตั้งใจจะยักย้ายทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปให้พ้นจากอำนาจศาล หรือจะโอน ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อประวิงหรือขัดขวางต่อการบังคับตามคำบังคับ ใด ๆ ซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลยหรือเพื่อจะทำให้โจทก์เสียเปรียบ หรือ
               (ข) มีเหตุจำเป็นอื่นใดตามที่ศาลจะพิเคราะห์เห็นเป็นการยุติธรรมและสมควร
               (๒) ในกรณีที่ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๒๕๔(๒) ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า
               (ก) จำเลยตั้งใจจะกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการละเมิด การผิดสัญญา หรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง
               (ข) โจทก์จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลย
               (ค) ทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยนั้นมีพฤติการณ์ว่าจะมีการกระทำให้เปลืองไปเปล่าหรือ บุบสลายหรือโอนไปยังผู้อื่น หรือ
               (ง) มีเหตุตาม (๑) (ก) หรือ (ข)
               (๓) ในกรณีที่ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๒๕๔(๓) ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า
               (ก) เป็นที่เกรงว่าจำเลยจะดำเนินการให้มีการจดทะเบียน แก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือเพิกถอนการจดทะเบียนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยหรือที่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือ
               (ข) มีเหตุตาม (๑) (ข)
               (๔) ในกรณีที่ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๒๕๔(๔) ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า เพื่อที่จะประวิงหรือขัดขวางต่อการพิจารณาคดีหรือการบังคับตามคำบังคับใด ๆ ซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลย หรือเพื่อจะทำให้โจทก์เสียเปรียบ
               (ก) จำเลยซ่อนตัวเพื่อจะไม่รับหมายเรียกหรือคำสั่งของศาล
               (ข) จำเลยได้ยักย้ายไปให้พ้นอำนาจศาลหรือซุกซ่อนเอกสารใด ๆ ซึ่งพอจะเห็นได้ว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในคดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณา หรือทรัพย์สินที่พิพาท หรือทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดหรือ แต่บางส่วน หรือเป็นที่เกรงว่าจำเลยจะจำหน่ายหรือทำลายเอกสารหรือทรัพย์สินเช่นว่านั้น หรือ
               (ค) ปรากฏตามกิริยาหรือตามวิธีที่จำเลยประกอบการงานหรือการค้าของตนว่าจำเลยจะหลีกหนีหรือพอเห็นได้ว่าจะหลีกไปให้พ้นอำนาจศาล