คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๕๔๓/๒๕๖๑
               จำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานของจำเลยที่ ๓ ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากจำเลยที่ ๔ ในการติดตามทวงถามหนี้กับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ ๑ ได้โทรศัพท์มาทวงหนี้โจทก์และแจ้งเรื่องดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นในโรงเรียนทราบ อันไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ การที่จำเลยที่ ๓ มอบหมายให้จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ติดตามทวงถามหนี้จากโจทก์ อันเป็นกิจการที่จำเลยที่ ๓ นายจ้างมอบให้จำเลยที่ ๑ ลูกจ้างไปกระทำในทางการที่จ้าง จำเลยที่ ๓ จะอ้างว่าเหตุละเมิดเกิดเพราะจำเลยที่ ๑ ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคู่มือปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๓ อันเป็นเรื่องภายในของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่ เมื่อจำเลยที่ ๑ ทวงหนี้โจทก์โดยจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง จำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ ๑ กระทำไปในทางการที่จ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๕ ส่วนจำเลยที่ ๔ แม้สัญญาบริการเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่สัญญาบริการดังกล่าวมีข้อตกลงในลักษณะจำเลยที่ ๔ มอบหมายให้จำเลยที่ ๓ ไปติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ ๔ แทนจำเลยที่ ๔ โดยจำเลยที่ ๓ ได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ ๔ เป็นการตอบแทน จำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ จึงมีนิติสัมพันธ์กันในลักษณะจำเลยที่ ๓ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๔ โดยปริยาย โดยมีบำเหน็จในส่วนที่เกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ ๔ อยู่ด้วย เมื่อจำเลยที่ ๓ มอบหมายให้จำเลยที่ ๑ ไปติดตามทวงถามหนี้จากโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ ๔ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๔ โดยปริยายในส่วนที่เกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ ๔ เช่นกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๙๗ วรรคสอง และแม้สัญญาระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ มีข้อตกลง ห้ามมิให้ลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ ทวงถามหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ ๔ โดยวิธีการที่ผิดกฎหมายประการใดก็ตาม ก็ไม่อาจนำมาใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ จำเลยที่ ๔ จึงต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของ จำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ด้วยตามมาตรา ๔๒๗ ประกอบ มาตรา ๔๒๕

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๔๒๕ นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
                    มาตรา ๔๒๖ นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น
               มาตรา ๔๒๗ บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม
                    มาตรา ๗๙๗ อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดังนั้น
               อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้
อ่านเพิ่มเติม ตัวแทนโดยปริยาย