คำพิพากษาฎีกาที่
๒๑๓๓/๒๕๖๑
คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องสอดอ้างว่า เป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของ ป.
ซึ่งเป็นทายาทและถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกในคดีนี้ ผู้ร้องมีสิทธิรับมรดกของ ป.
ที่มีอยู่ในกองมรดก ทั้งมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกแบ่งทรัพย์มรดกให้ผู้ร้อง
เช่นนี้ผู้ร้องมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๑) และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๗๔๙ และเป็นกรณีที่ผู้ร้องเข้ามาในคดีเพื่อขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจัดการแบ่งทรัพย์มรดกในส่วนที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งให้แก่กองมรดกของ
ป. หนึ่งในห้าส่วนที่ ป. มีสิทธิได้รับ อันเป็นการเรียกร้องทรัพย์มรดกที่อ้างว่า เป็นส่วนของตนจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกในขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกทรัพย์มรดก
ซึ่งผู้ร้องสอดมีสิทธิร้องสอดเข้ามา มาตรา ๑๗๔๙ ได้ ไม่อาจถือว่าเป็นการต่อสู้กับจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนของตนเอง
ผู้ร้องยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีในฐานะผู้จัดการมรดกของ
ป. ขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจัดการแบ่งทรัพย์มรดกในส่วนที่โจทก์ทั้งสองขอแบ่งหนึ่งในห้าส่วนที่
ป. มีสิทธิได้รับในฐานะที่ ป. เป็นทายาทของเจ้ามรดกให้แก่กองมรดกของ ป.
อันเป็นการเรียกทรัพย์มรดก จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
และมีทุนทรัพย์ตามทรัพย์ที่ผู้ร้องเรียกร้องให้เป็นกองมรดกของ ป.
ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๘๑๐-๘๑๑/๒๕๔๗ การร้องขอเข้าเป็นคู่ความตามมาตรา
๕๗(๑) ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ระหว่างพิจารณา เว้นแต่สิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษา
หรือคำสั่งก็ให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น ส่วนมาตรา ๕๗(๒) ต้องยื่นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด
ๆ ก่อนมีคำพิพากษา ดังนั้น ทั้งสองกรณีดังกล่าวต้องยื่นก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาเท่านั้น
จะยื่นในระหว่างอุทธรณ์ไม่ได้
ฎีกาที่ ๗๗๐๙/๒๕๔๔ ป.วิ.พ.
มาตรา ๕๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด
ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่า
เฉพาะแต่บุคคลภายนอกที่มิใช่คู่ความเท่านั้นที่จะเข้ามาในคดีด้วยการร้องสอด
แต่ผู้ร้องสอดเป็นจำเลยที่ ๓ ในคดีอยู่แล้ว จึงไม่ใช่บุคคลภายนอก
ไม่อาจร้องสอดเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๗ วรรคหนึ่ง (๑) ได้
ฎีกาที่ ๔๔๑๐/๒๕๔๒ ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๕๗ (๑) คำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้อง
ซึ่งถือเป็นคำคู่ความ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง มีผลเป็นการไม่รับคำร้องสอด
คำสั่งศาลชั้นต้นจึงเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม มาตรา ๒๒๗ และไม่ถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
ผู้ร้องสอดย่อมอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไปตามมาตรา
๒๒๙
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๕๗
บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด
(๑)
ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง
หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา
หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๗๔๙
ถ้ามีคดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาทมีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้น
จะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้
แต่ศาลจะเรียกทายาทอื่น
นอกจากคู่ความ หรือผู้ร้องสอด ให้เข้ามารับส่วนแบ่ง
หรือกันส่วนแห่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นนั้นไม่ได้
0 Comments
แสดงความคิดเห็น