ประเด็น
๑. ค่าตอบแทนหรือส่วนลดขายลดเช็ค
อัตราร้อยละ ๓ ต่อเดือน ถือว่าเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเหมือนเช่นการกู้ยืมเงินหรือไม่
๒. จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินเพราะถูกข่มขู่
ดังนี้สัญญากู้ยืมเงินเป็นโมฆะหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
๖๒๙๔/๒๕๖๑
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามลหนี้เดิมเป็นมูลหนี้ที่มาจากการขายลดเช็ค
ซึ่งสัญญาขายลดเช็คนั้นมิได้มีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราไว้เหมือนเช่นการกู้ยืมเงิน
ดังนั้น การที่โจทก์คิดค่าตอบแทนหรือส่วนลดในอัตราร้อยละ ๓ ต่อเดือน
ในการขายลดเช็คจึงมิใช่การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย สัญญากู้ยืมเงินจึงมิใช่เอกสารปลอม
จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์
ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๔
บัญญัติว่าการข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น
จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว
ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้นโจทก์นำกลุ่มผู้ชายหลายคนแต่งกายคล้ายตำรวจไปที่บ้านของจำเลย
ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงาน พูดจาข่มขู่ว่าบ้านและที่ดินตกเป็นของโจทก์แล้ว หากจำเลยจะดำเนินงานต่อต้องให้เงินโจทก์
๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยกลัว จึงต้องทำสัญญากู้ยืมเงิน การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ด้วยพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น
หาได้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นการข่มขู่อันจะทำให้สัญญากู้ยืมเป็นโมฆียะไม่
ตามฎีกานี้ ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า
จำเลยนำเช็คที่ลูกค้าของจำเลยสั่งจ่าย จำนวน ๑๒ ฉบับรวมเป็นเงิน ๔,๘๑๐,๑๙๔.๖๐ บาท
มาขายลดให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คทั้ง ๑๒ ฉบับ ถึงกำหนดเรียกเก็บเงินปรากฏว่า
ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๖๔ การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ
การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น
จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง
และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว
ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น
0 Comments
แสดงความคิดเห็น