ประเด็น ทรัสต์ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของสัญชาติอเมริกัน และพินัยกรรมตามแบบสัญชาติอเมริกันระบุยกทรัพย์สินทุกชนิดให้กับทรัสต์ดังกล่าว ดังนี้ มีผลสมบูรณ์และมีสภาพบังคับตามกฎหมายไทยหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๕๒๔/๒๕๖๑ 
               พินัยกรรมที่ผู้ตายซึ่งมีสัญชาติอเมริกันทำขึ้นขณะมีภูมิลำเนา และถึงแก่ความตายที่มลรัฐวอชิงตันประเทศสหรัฐอเมริกาและถูกต้องตามแบบกฎหมายแห่งรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผลสมบูรณ์สามารถใช้บังคับในศาลไทยได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัด กันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๔๑ มาตรา ๔๐ ที่บัญญัติว่า บุคคลจะทำพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายสัญชาติกำหนดไว้ก็ได้ หรือจะทำตามแบบที่กฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรมกำหนดไว้ก็ได้ และมาตรา ๔๑ ที่บัญญัติว่า ผลและการตีความพินัยกรรมก็ดี ความเสียเปล่าแห่งพินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมก็ดี ให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรมในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย มิใช่บังคับหรือตีความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๖ ว่าด้วยมรดก ลักษณะ ๓ ทั้งมาตรา ๓๘ ยังบัญญัติว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับมรดกโดยสิทธิโดยธรรมหรือพินัยกรรมให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของเจ้ามรดกในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
               ข้อกำหนดพินัยกรรมตามแบบสัญชาติอเมริกันผู้ตายระบุว่าขอ ยกทรัพย์สินและมรดกทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ไม่ว่า ชนิดใดและตั้งอยู่ที่ใดก็ตามหรือเรียกว่ากองมรดกที่เหลืออยู่ให้กับทรัสต์ภายใต้ทรัสต์ของผู้ตาย คือผู้ร้องและบุตรของผู้ตายที่ระบุไว้ในทรัสต์ของผู้ตาย ซึ่งผู้ตายได้ก่อตั้งในขณะที่ยังมีชีวิตตามกฎหมายของรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๘๖ อันจะทำให้ทรัสต์ของ ผู้ตายเสียไป จึงมีผลสมบูรณ์และมีสภาพบังคับได้ตามกฎหมาย โดยตัดผู้คัดค้านออกจากการเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านย่อมไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลไทยเพื่อขอจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้

               ตามฎีกานี้ ในระหว่างมีชีวิตผู้ตายก่อตั้งทรัสต์ และทำพินัยกรรมที่รัฐวอชิงตัน ให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกโดยเป็นไปตามทรัสต์ที่ผู้ตายก่อตั้งไว้ว่า ผู้ตายเป็นทรัสตีคนแรก หากไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ผู้ร้องเป็นทรัสตีคนต่อไปและจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย พินัยกรรมของผู้ตายเอกสารหมาย ร. ๑ ข้อ ๒ ระบุว่า ผู้ตายขอยกทรัพย์สินและมรดกทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม และตั้งอยู่ที่ใดก็ตาม หรือเรียกว่ากองมรดก ที่เหลืออยู่ให้กับทรัสตีภายใต้ทรัสต์ของผู้ตาย
               ผู้ตายมีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า เลขทะเบียน ชฐ ๒๔๒๘ กรุงเทพมหานคร กับห้องชุดเลขที่ ๓๑๕/๕๔๕ ชั้น ๓ อาคารเลขที่ ๒ ของอาคารชุดฟอร์จูน คอนโดทาวน์ ๑ ตั้งอยู่บนโฉนดเลขที่ ๕๒๐๑๔ ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวากรุงเทพมหานคร ตามสำเนารายการ จดทะเบียนและสำเนาหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดเอกสารหมาย ร.๕ และ ร.๑๐ แต่เมื่อผู้ร้องไปขอรับโอนห้องชุดดังกล่าวเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่า ต้องมีคำสั่งศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้ขอจัดการมรดกก่อน
                    ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมีสัญชาติไทยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ทรัสต์และพินัยกรรมตามคำร้องไม่อาจนำมาใช้ในเขตอำนาจของศาลไทยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๘๖

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๖๘๖ อันว่าทรัสต์นั้น จะก่อตั้งขึ้นโดยตรงหรือโดยทางอ้อมด้วยพินัยกรรมหรือด้วยนิติกรรมใด ๆ ที่มีผลในระหว่างชีวิตที่ดีหรือเมื่อตายแล้วก็ดี หามีผลไม่ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการก่อตั้งทรัสต์เท่านั้น