คำพิพากษาฎีกาที่
๖๖๕๓/๒๕๖๑
ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์อย่างคดีไม่มีข้อพิพาทโดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๕๕ และมาตรา ๑๘๘ แล้ว แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์
ถือว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกมีสิทธิพิสูจน์ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้อง
และคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ไม่ผูกพันผู้คัดค้าน
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ (๒) ก็ตาม แต่คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องได้ กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ถึงที่สุดไปแล้ว
และตามคำร้องของผู้คัดค้านไม่ปรากฏว่าผู้ร้องโต้แย้งสิทธิอย่างใดแก่ผู้คัดค้านในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนอกจากที่ผู้คัดค้านอ้างว่ามีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้อง
ทั้งผู้คัดค้านขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์
มิได้ขอให้มีคำสั่งแสดงว่าผู้คัดค้านมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาท
ผู้คัดค้านจึงไม่อาจร้องเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง
หรือบังคับตามสิทธิของตนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๑)
และไม่อาจขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๓๘๒ ที่ได้ดำเนินมาแล้วโดยชอบได้
ตามฎีกานี้
คดีถึงที่สุดแล้ว ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าที่ดินโฉนดเลขที่
๔๗๙๔ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
ฎีกาที่ ๑๖๒๐/๒๕๕๙ คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีค่าสั่งว่า
ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่งอกของที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๕๙๔ ซึ่งมีชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาว่า ที่งอกของที่ดิน โฉนดเลขที่ ๖๕๙๔ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์
หากผู้คัดค้านไม่สามารถยื่นฎีกาได้และคดีถึงที่สุด ผู้ร้องก็สามารถนำคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๖ ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ผู้ร้อง ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว
ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย
ชอบที่จะร้องขอเข้ามาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๗ (๑)
แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า
ก่อนไต่สวนคำร้องขอ ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องขอแก่ผู้คัดค้านแล้วก็ตาม
แต่เมื่อผู้คัดค้านมิได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์ภาค
๖ มีคำสั่งหรือคำพิพากษา ต้องถือว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกคดี
จึงสามารถพิสูจน์ในชั้นนี้ได้ว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิในที่ดินดีกว่าผู้ร้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค
๖ ที่แสดง กรรมสิทธิ์ในที่งอกไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๕ (๒) การที่ผู้คัดค้านยื่นฎีกาดังกล่าวพอแปลได้ว่าผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะไต่สวนคำร้องขอและคำคัดค้านเพื่อวินิจฉัยถึงข้อโต้แย้งสิทธิของผู้คัดค้านไปตามรูปคดี
ฎีกาที่ ๑๕๔๐๒/๒๕๕๗ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์
แม้ผู้คัดค้านจะไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์
ถือว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกคดีมีสิทธิพิสูจน์ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้อง
และคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม
ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๕ (๒) ก็ตาม แต่คดีนี้คำสั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุดไปแล้ว โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า
ผู้ร้องนำคำสั่งศาลชั้นต้นไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน
หรือดำเนินการขอให้ผู้คัดค้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน
อันจะถือได้ว่าเป็นการดำเนินการชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และคำร้องขอของผู้คัดค้านเพียงแต่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น
มิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าผู้คัดค้านมีสิทธิเหนือที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด
ผู้คัดค้านจึงไม่อาจร้องคัดค้านเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อให้ได้ความรับรอง
คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๗ (๑)
ฎีกาที่ ๗๖๓๕/๒๕๔๖ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ.
มาตรา ๑๓๘๒ และคดีถึงที่สุดแล้วนั้น
เมื่อผู้คัดค้านอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้าน
โดยผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดีนี้ในขณะที่ศาลชั้นต้นมีค่าสั่ง
ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลภายนอกคดีมีอำนาจที่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตาม
ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๕ (๒) ผู้คัดค้านชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลอย่างคดีมีข้อพิพาทเป็นคดีใหม่
และกรณีนี้มิใช่เป็นกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๗ (๔) เพราะคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง
ไม่ใช่คำสั่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งตามความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา ๗ (๔)
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๕๗
บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด
(๑)
ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง
หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา
หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น
0 Comments
แสดงความคิดเห็น