คำพิพากษาฎีกาที่
๖๙๒/๒๕๖๑
ความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘ มิใช่เป็นความผิดแต่เฉพาะตัวของเจ้าพนักงานคนใดคนหนึ่งในขณะปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันเท่านั้น
หากมีการต่อสู้หรือขัดขวางจากคนร้ายเกิดขึ้น เจ้าพนักงานที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนั้นต่างต้องได้รับผลร้ายหรือผลกระทบยากลำบากจากการปฏิบัติงานที่ไม่สะดวกราบรื่นทั้งสิ้น
จึงเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานชุดที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกคน
มาตรา ๑๓๘ บัญญัติให้การต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่
เป็นความผิดและมีโทษนั้นก็เพื่อให้ประชาชน ผู้เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานเพื่อความสะดวกราบรื่นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน
แม้ไม่ใช่ประชาชนผู้ถูกเจ้าพนักงานกล่าวหาว่ากระทำความผิดก็ตาม
จำเลยที่ ๑
ขับรถคันเกิดเหตุพุ่งใส่เจ้าพนักงานตำรวจที่อยู่ด้านหน้ากับรถตราโล่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่จอดปิดกั้นจราจรจนเจ้าพนักงานตำรวจต้องกระโดดหลบและเฉียวชนรถของประชาชน
และรถตราโล่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่อยู่ด้านหน้าและรถของประชาชนที่อยู่ด้านหลังเพื่อหลบหนี
แม้อาวุธปืนที่ยึดได้จากรถคันเกิดเหตุถูกซุกซ่อนอยู่ใต้ที่นั่งด้านหน้าข้างคนขับ จำเลยที่
๑ ไม่ได้พกติดตัวหรือวางในลักษณะพร้อมหยิบฉวยได้ทันทีก็ตาม แต่เป็นอาวุธ
ปืนที่มีกระสุนปืนบรรจุอยู่ในรังเพลิงพร้อมใช้งานได้ทันที และการมีอาวุธปืนในลักษณะเช่นนี้จำเลยที่
๑ มีโอกาสที่นำมาใช้ได้ตลอดเวลาหากต้องการใช้ นับเป็นอันตรายต่อเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติตามหน้าที่
จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๑๔๐ วรรคสาม
หมายเหตุ ข้อสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ข้อ ๑. ภาคหนึ่ง สมัยที่ ๗๓ ปีการศึกษา ๒๕๖๓
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๗๙๘๕/๒๕๔๐ การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๓๘ จะต้องเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยได้รับการแต่งตั้งตามวิธีการที่กฎหมายให้อำนาจและกำหนดไว้
ตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ.๒๔๙๗
มาตรา ๑๖(๒) กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ทำหน้าที่ตรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจและมาตรา
๒๙ เจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในระหว่างทำการตามหน้าที่
ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน ตามกฎหมายลักษณะอาญา ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายทำงานร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจึงจะมีอำนาจตามกฎหมายและให้ถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงาน
เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายมีหน้าที่เพียงสกัดกั้นผู้กระทำผิดต่อกฎหมายแต่ไม่มีหน้าที่จับกุม
หากจะจับกุมจะต้องมีเจ้าพนักงานตำรวจและปลัดอำเภอร่วมด้วย ดังนี้
การที่ไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับผู้เสียหายในการจับกุมจำเลยผู้เสียหายจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่
ฎีกาที่ ๔๙๕๐/๒๕๔๐ ปัญหาตามที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยอ้างเหตุว่าขณะที่เจ้าพนักงานเข้าตรวจค้นและจับกุมพวกลักลอบเล่นการพนันนั้น
เจ้าพนักงานตำรวจไม่มีหมายค้นและหมายจับ จึงไม่อาจตรวจค้นและจับกุมได้ จำเลยที่ ๑ ขัดขวางการจับกุมไม่เป็นความผิด
แม้ปัญหานี้จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
แต่ที่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตาม
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕
ฎีกาที่ ๓๑๗๘/๒๕๔๐ การที่ผู้เสียหายปฏิบัติภารกิจอื่นแล้วเข้าไปยังที่เกิดเหตุโดยยังมิได้มีเหตุการณ์วิวาทเกิดขึ้นแต่ผู้เสียหายกลับไปมีเรื่องกับจำเลยเป็นส่วนตัว
โดยถูกจำเลยพูดว่ากล่าวและผลักอก จึงไม่ใช่เรื่องที่ผู้เสียหายกำลังปฏิบัติการตามหน้าที่ในการเข้าระงับเหตุ
ทะเลาะวิวาทหรือจับกุมผู้กระทำความผิด การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๓๘ แต่อย่างใด
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๓๘ ผู้ใดต่อสู้
หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น
ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี
หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๔๐ ถ้าความผิดตามมาตรา ๑๓๘
วรรคสอง หรือมาตรา ๑๓๙ ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร
ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะมีอยู่หรือไม่ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี
และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด
ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง
0 Comments
แสดงความคิดเห็น