คำพิพากษาศาลฎีกาที่
๗๖๓๕/๒๕๔๖
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ.
มาตรา ๑๓๘๒ และคดีถึงที่สุดแล้วนั้น
เมื่อผู้คัดค้านอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้าน โดยผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดีนี้ในขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง
ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลภายนอกคดีมีอำนาจที่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตาม
ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๕ (๒) ผู้คัดค้านชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลอย่างคดีมีข้อพิพาทเป็นคดีใหม่
และกรณีนี้มิใช่เป็นกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๗ (๔) เพราะคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง
ไม่ใช่คำสั่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งตามความหมายของ
ป.วิ.พ. มาตรา ๗ (๔)
ตามฎีกานี้ ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านฉบับลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๔ ว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า
๑๐ ปีแล้ว โดยผู้ร้องและบุคคลทั่วไปไม่เคยโต้แย้ง ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องนั้น
ผู้คัดค้านไม่ทราบแต่อย่างใด ผู้คัดค้านเพิ่งทราบเมื่อปี ๒๕๔๓ การที่ศาลมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องเกิดจากการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของผู้ร้อง
เป็นเหตุให้ศาลหลงผิดจึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
และมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาท
เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน
หากผู้คัดค้านประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปก็ให้ยื่นคำฟ้องเข้ามาเป็นคดีใหม่ต่างหาก
ฎีกาที่ ๒๕๙๑/๒๕๔๕ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีค่าสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งมีชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองและคดีถึงที่สุด
การที่ผู้ร้องนำคำพิพากษาไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนถือได้ว่าเป็นการดาเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือค่าสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิ
ชอบที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗(๑) และผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีในศาลชั้นต้น
ถือได้ว่าเป็นบุคคลภายนอก จึงสามารถพิสูจน์ในชั้นนี้ได้ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม
มาตรา ๑๔๕(๒) โดยไม่ต้องให้ผู้คัดค้านไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ศาลชั้นต้นต้องรับคำร้องขอของผู้คัดค้านไว้เพื่อวินิจฉัยข้อโต้แย้งสิทธิของผู้คัดค้านไปตามรูปคดี
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑๔๕ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกา
และการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง
นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง
แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี
ถึงแม้ศาลจะได้กล่าวไว้โดยทั่วไปว่าให้ใช้คำพิพากษาบังคับแก่บุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลด้วยก็ดี
คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่ที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา
๑๔๒ (๑) มาตรา ๒๔๕ และมาตรา ๓๖๖ และในข้อต่อไปนี้
(๑) คำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล
หรือคำพิพากษาสั่งให้เลิกนิติบุคคล หรือคำสั่งเรื่องล้มละลายเหล่านี้
บุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิงหรือจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกก็ได้
(๒) คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด
ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้
เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า
0 Comments
แสดงความคิดเห็น