คำพิพากษาศาลฎีกาที่
๘๖๓๙/๒๕๖๑
คำฟ้องโจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยอีกกึ่งหนึ่งตาม
พ.ร.บ.ยาเสพติด ให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ โดยมิได้ระบุอ้าง ป.อ. มาตรา ๙๒ มาด้วย
แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก
๒ ปี ๑ เดือน ๑๕ วัน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย
จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้ ซึ่งเป็นคดียาเสพติดอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ
ขอให้เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ ถือว่า
โจทก์มีความประสงค์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบและได้กล่าวมาในคำฟ้องตาม
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๙ วรรคหนึ่ง แล้ว แม้จะเพิ่มโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ
พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่ได้ แต่ยังสามารถเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามได้ตาม ป.อ. มาตรา ๙๒
เพราะบทบัญญัติในเรื่องเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดไม่ใช่เป็นมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิด
จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘(๖)
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๗๖๓๘/๒๕๕๐ ตาม ป.วิ.อ.
มาตรา ๑๕๘(๖) บัญญัติว่า คำฟ้องจะต้องอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องมาแจ้งชัดว่าจำเลยขับรถจักรยานยนต์
โดยประมาทเฉียวชนรถยนต์กระบะของ อ. ที่ ค. เป็นผู้ขับได้รับความเสียหาย
และอ้างบทห้ามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๔๓ มาด้วย ซึ่งเท่ากับโจทก์อ้างบทห้าม
การกระทำความผิดตามมาตรา ๔๓(๔) อยู่ในตัวแล้ว โจทก์หาจำต้องระบุอนุมาตรา (๔)
ของมาตรา ๔๓ มาในคำขอท้ายฟ้องด้วยไม่ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิพากษาปรับบทความผิดในมาตรานั้น
ๆ ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ
ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๔๓(๔)
จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
ฎีกาที่ ๑๔๕๓๖/๒๕๕๕ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม
ป.อ. มาตรา ๓๐๙ โดยไม่ได้ระบุวรรค เนื่องจาก ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘(๖) มิได้บังคับไว้เช่นนั้น
แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามพูด
ข่มขู่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสองให้ตายจนผู้เสียหายทั้งสองต้องย้ายที่พักอาศัยไปอยู่ที่บ้านพักเจ้าหน้าที่สวนป่าบางขนุนแตกต่างจากที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสองโดยมีอาวุธก็ตาม
ก็มิใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้อง
การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา ๓๐๙ วรรคแรก
จึงเป็นการปรับบทกฎหมายให้ตรงตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เท่านั้น และไม่เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ (วินิจฉัยทำนองเดียวกัน ฎีกาที่
๓๘๘๙/๒๕๕๑)
ฎีกาที่ ๑๐๙๒๙/๒๕๕๑ ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตาม
ป.อ. มาตรา ๑๙๐ แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขัง แต่คำขอท้ายฟ้องไม่ได้อ้างมาตรา
๑๙๐ ซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ฟ้องโจทก์ฐานหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังจึงขาดการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘(๖) เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์สำหรับการกระทำความผิดฐานนี้
ศาลจะลงโทษตามบทมาตราดังกล่าวไม่ได้(วินิจฉัยทำนองเดียวกัน ฎีกาที่ ๓๙๘๙/๒๕๕๑)
ฎีกาที่ ๔๖๐๕/๒๕๕๑ โจทก์ได้บรรยายชัดเจนแล้วว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสอันเป็นความผิดตาม
ป.อ. มาตรา ๒๙๗(๘) ส่วนบาดแผลของผู้เสียหายจะเกิดจากไม้ปลายแหลมหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา
และโจทก์ไม่จำต้องระบุอนุมาตราที่ขอให้ลงโทษมาในคำขอท้ายฟ้องด้วย
ฟ้องของโจทก์จึงได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิด
ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ที่เกิดการกระทำนั้น ๆ
อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
และอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำ เช่นนั้นเป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา
๑๕๘(๕) และ (๖) แล้ว
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๕๘ ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ
และมี
(๖) อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด
มาตรา ๑๕๙ ถ้าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษเพราะได้กระทำความผิดมาแล้ว
เมื่อโจทก์ต้องการให้เพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบ ให้กล่าวมาในฟ้อง
ถ้ามิได้ขอเพิ่มโทษมาในฟ้อง
ก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้อง
เมื่อศาลเห็นสมควรจะอนุญาตก็ได้
0 Comments
แสดงความคิดเห็น