คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๗๖/๒๕๖๑ 
               โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) โดยซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา แต่ที่ดินพิพาทกลับมีชื่อจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของและมีชื่อจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับซื้อฝาก เป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง เช่นนี้เท่ากับเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ ถือว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแล้ว โจทก์ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ส่วนที่ดินพิพาทไม่ใช่แปลงเดียวกับที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบพิสูจน์ในชั้นพิจารณา หาทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่
               แม้การให้ที่ดินพิพาท (น.ส.๓ ก.) ระหว่าง ส. กับพระภิกษุ ป. ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๒๕ ก็ตาม แต่เมื่อ ส. สละการครอบครองและโอนการครอบครองโดยส่งมอบการครอบครอง ที่ดินพิพาทให้แก่พระภิกษุ ป. การครอบครองที่ดินพิพาทของ ส. ย่อมสิ้นสุดลง ส. ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท พระภิกษุ ป. ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ มาตรา ๑๓๗๗ และมาตรา ๑๓๗๔
               แม้การซื้อขายที่ดินพิพาท (น.ส.๓ ก.) ระหว่างพระภิกษุ ป. กับโจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อพระภิกษุ ป. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว พระภิกษุ ป. ได้สละการครอบครองและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินพิพาทของพระภิกษุ ป. ย่อมสิ้นสุดลง พระภิกษุ ป. ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมได้สิทธิในที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ มาตรา ๑๓๗๗ และมาตรา ๑๓๗๘ ค. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. มารดาพระภิกษุ ป. ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเดิมที่ยกให้ที่ดินพิพาทแก่พระภิกษุ ป. โดยการส่งมอบการครอบครองให้พระภิกษุ ป. เข้าครอบครองแล้ว แม้การให้มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๕๒๕ ก็ตาม ไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่มรดกของ ส. ให้แก่ อ. อ. ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
               อ. ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท (น.ส.๓ ก.) บุคคลอื่น ซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทต่อมารวมทั้งจำเลยที่ ๑ จึงไม่มีสิทธิครอบครองด้วย แม้จำเลยที่ ๑ มีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) และได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๓ ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองก็ตาม แต่มิใช่เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด โจทก์สามารถนำสืบข้อเท็จจริงหักล้างได้
               โจทก์ได้ซื้อและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท (น.ส.๓ ก.) ส่วนจำเลยที่ ๑ ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาททางทะเบียนโดยรับซื้อฝากมาจาก ช. ซึ่งไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และจำเลยที่ ๑ ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามความเป็นจริง จำเลยที่ ๑ จึงไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และไม่มีสิทธิขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ แม้การขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริตและจำเลยที่ ๒ เสียค่าตอบแทนก็ไม่ทำให้จำเลยที่ ๒ ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
               โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและไม่มีสิทธิขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ แล้ว ศาลฎีกาสมควรพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองด้วย ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒

เพิ่มเติม
                    ฎีกาที่ ๖๔๓๖/๒๕๕๐ จำเลยที่ ๑ ขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์และส่งมอบการครอบครองให้แล้ว โดยไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาเป็นหนังสือจึงตกเป็นโมฆะ แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การที่จำเลยที่ ๑ ส่งมอบการครอบครองเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗๘ ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธินำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ ๒ เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน หมายเหตุ ฎีกานี้ ไม่มีประเด็นให้ศาลวินิจฉัยตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ซึ่งเป็นข้อยกเว้น 
               ฎีกาที่ ๒๕๑๒/๒๕๔๙ จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) จำเลยที่ ๑ ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ส. โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ส. ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ครั้นครบกำหนดจำเลยที่ ๑ ไม่ใช้สิทธิไถ่คืน แต่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) มิใช่หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทคงมีแต่สิทธิครอบครอง แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แต่การได้มาของโจทก์ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรมซึ่งถ้ายังมิได้จดทะเบียน โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง จำเลยที่ ๒ จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๔๕๖ การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
               มาตรา ๕๒๕ การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ
               มาตรา ๑๓๗๖ ถ้าจะต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่บุคคลผู้มีสิทธิเอาคืนไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา ๕๑๒ ถึง ๔๑๘ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               มาตรา ๑๓๗๗ ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง
               ถ้าเหตุอันมีสภาพเป็นเหตุชั่วคราวมีมาขัดขวางมิให้ผู้ครอบครองยึดถือทรัพย์สินไซร้ ท่านว่าการครอบครองไม่สุดสิ้นลง
               มาตรา ๑๓๗๘ การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้นย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง