คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๙/๒๕๖๑
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจาก
ป. ผู้ค้ำประกัน ย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์เฉพาะเท่าที่ปลดหนี้ให้
เมื่อยังมีหนี้ส่วนที่เหลือ จำเลยที่ ๑
ลูกหนี้ชั้นต้นจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้อีกจนครบจำนวน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๕ ไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดไปกับ ป. ด้วย
แม้โจทก์เจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้และปลดหนี้ให้กับ
ป. ผู้ค้ำประกัน ย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์เพียงเท่าส่วนของ ป. ชำระให้โจทก์และที่โจทก์ปลดไป
ซึ่งไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันเช่นเดียวกันกับ
ป. และต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๒
วรรคสอง ในส่วนที่ปลดไปเท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ ๒ หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ค้ำประกันส่วนที่เหลือที่จำเลยที่
๑ ลูกหนี้ชั้นต้นมีต่อโจทก์ไม่ ตามมาตรา ๒๒๙
มาตรา ๒๙๓ และมาตรา ๒๙๖ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดหนี้ที่ค้างชำระในต้นเงินและดอกเบี้ยและเบี้ยปรับต่อโจทก์
เพิ่มเติม
ฎีกาที่
๑๒๓๘๔/๒๕๕๘ การที่ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ชั้นต้นร่วมกับจำเลยในคดีนี้ชำระหนี้บางส่วนให้แก่เจ้าหนี้และเจ้าหนี้มีหนังสือปลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษารายนั้นแล้วก็ตาม
หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงเจตนาของเจ้าหนี้ว่าไม่ประสงค์ที่จะเรียกให้ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษารายนั้นชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่เจ้าหนี้จนสิ้นเชิง
ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๙๑ เท่านั้น ไม่มีผลทำให้จำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือภายหลังหักชำระหนี้แต่อย่างใดเพราะหนี้ตามคำพิพากษายังมิได้ชำระโดยสิ้นเชิง
จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือแก่เจ้าหนี้
ฎีกาที่
๒๒๒๐๑/๒๕๕๕ จำเลยทั้งสองต่างแสดงเจตนาเข้าเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของ ณ.
อันถือเป็นการค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม
ป.พ.พ. มาตรา ๖๘๒ วรรคสอง แต่ไม่เกินจำนวนที่จำเลยทั้งสองค้ำประกันไว้
การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท แล้วปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องจำเลยที่
๒ เพียงคนเดียว มิได้ปลดหนี้ให้จำเลยที่ ๑ ด้วย
การปลดหนี้ดังกล่าวย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมเพียงเท่าส่วนที่โจทก์ปลดหนี้ให้จำเลยที่
๒ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๙๓ แต่หาทำให้จำเลยที่ ๑ หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยไม่
เพราะหนี้รายนี้ยังมิได้ชำระโดยสิ้นเชิง จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ส่วนที่เหลืออีก
๔๐,๐๐๐ บาท ซึ่งไม่เกินส่วนความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ที่ยังเหลืออยู่
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา
๒๒๙ การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้
คือ
(๑)
บุคคลซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่เอง
และมาใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกคนหนึ่งผู้มีสิทธิจะได้รับใช้หนี้ก่อนตน
เพราะเขามีบุริมสิทธิ หรือมีสิทธิจำนำจำนอง
(๒)
บุคคลผู้ได้ไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์ใด และเอาเงินราคาค่าซื้อใช้ให้แก่ผู้รับจำนองทรัพย์นั้นเสร็จไป
(๓)
บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้
มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และเข้าใช้หนี้นั้น
มาตรา
๒๙๓ การปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ได้ปลดให้
เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น
มาตรา
๒๙๖ ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า
ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะทิ้งชำระนั้น
เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้ ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไรลูกหนี้คนอื่น ๆ ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้
แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว
ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป
มาตรา
๖๘๒ ท่านว่าบุคคลจะยอมเข้าเป็นผู้รับเรือน คือเป็นประกันของผู้ค้ำประกันอีกชั้นหนึ่งก็เป็นได้
ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้
ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน
แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน
มาตรา
๖๘๕ ถ้าเมื่อบังคับตามสัญญาค้ำประกันนั้น ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้
รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และอุปกรณ์ด้วยไซร้ หนี้ยังเหลืออยู่เท่าใด
ท่านว่าลูกหนี้ยังคงรับผิดต่อเจ้าหนี้ในส่วนที่เหลือนั้น
0 Comments
แสดงความคิดเห็น