คำพิพากษาศาลฎีกาที่
๖๖๖๒/๒๕๖๑ เล่มที่ ๑๐ หน้า ๑๓
คำว่า ของป่า ตาม
พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๔ ให้ความหมายไว้ว่า ของป่า หมายความว่า
สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือมีอยู่ในป่า เป็นต้นว่า (๑) ไม้ฟืน ถ่าน
เปลือกไม้ใบไม้ ดอกไม้ เมล็ด ผลไม้ หน่อไม้ ชันไม้ และยางไม้
แสดงว่าของป่าตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗
มีความหมายรวมทั้งหมดไม่ว่าสิ่งใดนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
หรือสิ่งที่มนุษย์ปลูกสร้างขึ้น หากเกิดขึ้นและมีอยู่ในป่าแล้ว ล้วนแต่เป็นของป่าทั้งสิ้น แตกต่างจากคำนิยามคำว่าของป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๔
(๗) ซึ่งให้ความหมายไว้ว่าของป่า หมายความว่า บรรดาของที่เกิดขึ้น
หรือมีขึ้นในป่าตามธรรมชาติ ของป่าตามความหมายของพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔
จึงหมายถึงเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในป่าเท่านั้น
ส่วนสิ่งที่มนุษย์ปลูกสร้างขึ้นแม้จะเป็นการปลูกสร้างขึ้นในป่าก็ไม่อาจกลายเป็นของป่าได้
ความหมายของคำว่าของป่า ตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าว
จึงมีความหมายที่แตกต่างกัน
ต้นปาล์มน้ำมันที่บริษัท ว.
ปลูกขึ้นในป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ ตั้งแต่ขณะได้รับอนุญาตจากรัฐ
ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ย่อมไม่อาจเป็นของป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้
พ.ศ.๒๔๘๔ ได้ แต่เนื่องจาก ต้นปาล์มน้ำมันดังกล่าวต้องถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่า
ย่อมอยู่ในความหมายของคำว่าของป่า ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗
นั่นเอง การกระทำของจำเลยที่เข้าไปเก็บเอาผลปาล์มน้ำมัน น้ำหนักประมาณ ๑,๐๐๐ กิโลกรัม ในป่าสงวนแห่งชาติป่ารับร่อที่เกิดเหตุ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๑๔, ๓๑
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๖๖๖๖/๒๕๖๑ แม้ปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตผลปาล์มน้ำมันของกลางจะเกิดจากการเพาะปลูกของบริษัท
บ. ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ แต่ต้นปาล์มน้ำมันดังกล่าวเป็นไม้ยืนต้นที่ปลูกบนที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ
เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่รัฐอนุญาตแล้ว ไม่ปรากฏว่ารัฐหรือบริษัท บ. ได้ดำเนินการให้รื้อถอนต้นปาล์มออกไป
แสดงว่าต่างมีความประสงค์ให้ต้นปาล์มน้ำมันเป็นส่วนควบของผืนป่า และเป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว
ผลปาล์มน้ำมันของกลางที่เกิดจากต้นปาล์มน้ำมันนั้น จึงเป็นดอกผลที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่า
ผลปาล์มน้ำมันจึงเป็นของป่า จำเลยเข้าไปเก็บเกี่ยวผลปาล์มน้ำมันของกลาง การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิด
อันเป็นความผิดฐานเก็บของป่าตามมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ และ
ผลปาล์มน้ำมันของกลางย่อมเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดจึงต้องริบ
ฎีกาที่ ๑๐๑๒๙/๒๕๕๗ ที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ซึ่งไม่อาจโอนให้แก่กันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การที่ ช.
ปลูกต้นยางพาราในที่ดินดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้นยางพาราดังกล่าวจึงเป็นไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
ไม่ใช่ทรัพย์ของ ช. แม้ผู้เสียหายซื้อต้นยางพาราจาก ก. บุตรเขยของ ช.
ต้นยางพาราดังกล่าวก็ไม่ใช่ทรัพย์ของผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายยังไม่ได้เข้าไปกรีดเอาน้ำยางซึ่งเป็นของป่าจากต้นยางพาราดังกล่าว
จึงยังไม่มีการยึดถือเอาน้ำยางเป็นของตน การที่จำเลยเข้าไปเอาน้ำยางจากต้นยางพาราดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้มีอาชีพกสิกรรมโดยผู้เสียหายตาม
ป.อ. มาตรา ๓๓๕(๑๒) วรรคแรก
0 Comments
แสดงความคิดเห็น